top of page
CHS03335.jpg

ผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงสู่
ความยั่งยืน

บทบาทสตรีในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย

เรียนรู้จากโลกกว้างและเทคโนโลยี

ผู้หญิงมักขวนขวายหาความรู้ในสิ่งที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ในยุคแห่งการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดน ช่องทางการเรียนรู้มากมาย ทั้งสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ และการจัดเวิร์คช้อบ อบรมต่างๆ สร้างโลกของการเรียนรู้ใหม่ให้กับผู้หญิงแห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย ได้เรียนรู้ รับประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนการผลิต และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศบริการที่สูญเสียไปจากกระบวนการผลิตเชิงเดี่ยวที่มีมาอย่างยาวนาน 

กลุ่มผู้หญิงที่บ้านทุ่งเทิง ตำบลบ้านโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คือตัวอย่างหนึ่งของการมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดและการลงมือทำที่มีจุดเริ่มต้นจากผู้หญิง การศึกษาหาความรู้เพื่อการตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบการผลิตอาหาร นั่นทำให้ผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญที่เป็นผู้มองเห็นปัญหาและคิดค้นวิธีการแก้ไข การเริ่มมองปัญหาจากจุดเล็กๆเป็นจุดเด่นของผู้หญิง

 

ความใส่ใจในรายละเอียดและคิดถึงคนรอบข้างทำให้กลุ่มผู้หญิงในบ้านทุ่งเทิงนี้หันกลับมาสนใจในการเกษตรที่ปลอดภัยขึ้น "เราเคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาก่อนทั้งกะหล่ำ ข้าวโพด ฯลฯ ทำจนสุขภาพเราเองแย่ลง บางครั้งเวลาเราปลูกพืชที่ใช้สารเคมีมากๆ เราก็คิดถึงลูกหลานเราที่ไปอยู่ในเมือง พวกเขาก็จะต้องกินพืชผักพวกนั้น เลยหันมาหาความรู้ในการทำเกษตรปลอดสาร คิดถึงหัวอกคนกินแล้วก็สบายใจ" เมตตา ศรีพรหม เล่าที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลง

ผู้หญิงยังเป็นจุดส่งต่อองค์ความรู้ที่มีให้กับคนรุ่นต่อไปได้ง่าย เพราะผู้หญิงมีเวลาที่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากกว่าโดยเฉพาะลูกหลานของตัวเอง ทำให้เกิดการส่งต่อความรู้ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์ความรู้ วิถีวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องของการสื่อสาร เทคโนโลยีต่างๆ กลุ่มผู้หญิงและเยาวชนนั้นสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ง่าย

CHS00902.jpg

ที่ไร่ของถาวร   ตันตุลา ในบ้านน้ำพุง ตำบลบ้านโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีต้นทุเรียน พืชผัก กล้วย ฟักหอม แตง ฟักทอง เต็มไร่ เธอกำลังใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากน้ำซาวข้าวฉีดใส่ใบทุเรียน "ให้ปุ๋ยทางใบต้องใส่ตอนเช้า เพราะทุเรียนเปิดใบรับอาหารในช่วงเช้า ช่วงเย็นเราจะให้ทางราก ปุ๋ยนี้ก็ทำจากสารอินทรีย์" เธอเล่าถึงเทคนิคการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นทุเรียนที่มีปฏิกริยาไวต่อสารเคมีมาก เมื่อถามว่าได้องค์

ความรู้เล่านี้มาจากไหน เธอบอกว่า "ก็ไปอบบรมมาบ้าง แล้วก็ดูในยูทูบบ้าง พวกการทำปุ๋ยกับยาไล่แมลงก็จะดูจากยูทูบบ้าง เฟชบุคบ้าง" สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นการเข้าถึงเทคโนโลยีของชาวบ้าน ทำให้พวกเขาสามารถหาความรู้ได้ทุกเมื่อ แล้วนำมาปรับใช้ ลองผิดลองถูกในพื้นที่ของตัวเอง จนประสบความสำเร็จ 

ร้านกาแฟเปิดใหม่ของลูกพี่สมบัติ  แสงราช กับพี่ละม่อม  แสงราช ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพุง ด้านล่างเป็นสวนทุเรียนและสวนส้ม ริมตลิ่งเต็มไปด้วยก่อไผ่ การหนุนเสริมกันระหว่างชายหญิงทำให้เกิดความเท่าเทียมในการคิดและจัดการทรัพยากรของตนเองให้มีผลผลิตที่ดีและปลอดภัย รวมทั้งรักษาระบบนิเวศส่วนรวมคือแม่น้ำพุงไว้ด้วย พี่สมบัติกับพี่ละม่อมร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ของตัวเองให้เป็นพื้นที่เกษตรที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมของชายหญิงสร้างความแข็งแรงและรอบคอบในการจัดการ ในอนาคตจุดนี้จะเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามา การมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนและการรวมรักษาแม่น้ำพุงจะเป็นเรื่องเล่าให้คนต่างถิ่นได้รับรู้ เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่นักท่องเที่ยวจะได้ดื่มด่ำบรรยากาศของทัศนียภาพไปพร้อมกับการเรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศบริการไปด้วย

"เราเคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาก่อนทั้งกะหล่ำ ข้าวโพด ฯลฯ ทำจนสุขภาพเราเองแย่ลง บางครั้งเวลาเราปลูกพืชที่ใช้สารเคมีมากๆ เราก็คิดถึงลูกหลานเราที่ไปอยู่ในเมือง พวกเขาก็จะต้องกินพืชผักพวกนั้น เลยหันมาหาความรู้ในการทำเกษตรปลอดสาร คิดถึงหัวอกคนกินแล้วมันสบายใจ" เมตตา ศรีพรหม

CHS03232.jpg

ปัญหาผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ

ริมแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แปลงผักเล็กๆทอดยาวไปไกลหลายร้อยเมตร เกษตรริมโขงนั้นทำกันมาเนิ่นนานตามฤดูกาล ตามปกติหลังฤดูฝนน้ำโขงจะลดระดับลงจนมีพื้นที่กว้างสำหรับพอให้ทำเกษตรแปลงเล็กๆ หรือบางที่ก็เป็นหาดทรายกว้างพอที่จะทำไร่ใหญ่ๆจำพวกไร่ยาสูบได้ 

 

ผักพื้นบ้านหลายชนิดเติบโตมาจากตะกอนดินของแม่น้ำโขงในช่วงที่อากาศหนาวเย็น ไม่ว่าจะเป็นผักกาดหอม ผักกาดขาว ผักชี กะหล่ำปลี บลอกโคลี่ หรือกะหล่ำดอก ทว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงที่มีความผันผวนเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้นั้นส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของเกษตรกรริมแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ด้านตะกอนดินที่ขาดหายไปจนเกิดปรากฏการณ์น้ำโขงเป็นสีฟ้าก็ส่งผลกระทบต่อแร่ธาตุในดินของพื้นที่เกษตรริมโขงด้วย ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรริมฝั่งโขงประสบปัญหาพืชผักไม่เติบโต ได้ผลผลิตที่ไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งผู้หญิงที่เป็นผู้จัดการทุกอย่างในระบบเกษตรริมแม่น้ำโขงนั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อผลผลิตได้ไม่ดีก็ส่งผลต่อระบบอาหารในครัวเรือนด้วย ชาวบ้านต้องซื้อผักในตลาดกินแทนและไม่รู้ที่มาของการผลิต ซึ่งอาจมีสารตกค้างจากการใช้สารเคมีในระบบการผลิตที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

ชาวบ้านเชียงคาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำการเกษตรริมโขงที่ระดับน้ำขึ้นลงไม่คงที่ คาดการณ์ยาก โดยการปรับระดับพื้นที่ปลูกให้สูงขึ้นกว่าระดับน้ำมากกว่าเดิม ปลูกผักให้หลากหลายขึ้นเพื่อให้ผลผลิตทยอยกันออกและเก็บไปกินหรือไปขายได้หลายครั้ง 

กลุ่มแม่บ้านเชียงคานนอกจากมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ภาคเกษตรก็ยังเป็นแหล่งรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย แม้เป็นเพียงผืนดินเล็กๆริมแม่น้ำโขงก็สามารถสร้างรายได้ได้และแน่นอนว่ายังสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนอีกด้วย 

CHS00240.jpg

แบ่งปันพื้นที่แบ่งปันองค์ความรู้

"ป่าส่วนตัวของเราสืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เขาให้เก็บไว้ให้ลูกหลาน ไม่ให้ตัดโค่น ให้ใช้ประโยชน์จากป่าทางอ้อม" พัชรินทร์  เหมือนศรีชัย พูดถึงป่าทึบด้านหลังสวนผสมผสานของเธอ ในสวนมีบ่อน้ำสามบ่อสำหรับเก็บน้ำไว้หน้าแล้ง กลางสวนมีลำธารเล็กๆไหลผ่าน ในสวนมีต้นไม้หลากหลายชนิด เช่น กล้วย มะละกอ โกโก้ ไผ่ เป็นต้น รอบๆสวนก็เต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว ได้แก่ ฟักหอม ฟักทอง แตง แฟง พริก กระเพา โหระพา และพริกไทยที่เกาะเลื้อยพันเสาไม้อยู่ในป่าร่มครึ้ม 

"ป่านี้เราให้ชาวบ้านเข้ามาหาของป่า ทั้งหัวกลอย หน่อไม้ เห็ด ชาวบ้านจะเข้ามาเก็บ มาใช้ประโยชน์เราไม่หวงเลย แต่ขออย่างเดียวห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ แต่ไม้ไผ่นี่เอาไปใช้ได้" พัชรินทร์  เหมือนศรีชัย เล่าถึงป่าของเธอที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

การฟื้นฟูป่าส่วนตัวของชาวบ้านในเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลยนั้นทำให้ชาวบ้านมีแหล่งอาหารมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะแต่เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังสามารถเอื้อเฟื้อไปกับคนอื่นที่มีที่ดินน้อยหรือไม่มีที่ดินเลยได้ใช้ประโยชน์ด้วย หากกำหนดกฏเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืนจะทำให้เกิดการร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบริการให้ดียิ่งขึ้น เพราะทุกคนต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน มิใช่มีเพียงใครคนใดคนหนึ่งที่กอบโกยอยู่ฝ่ายเดียว

บทบาทของผู้หญิงที่บ้านทุ่งเทิงและกลุ่มผู้หญิงในเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลยจึงเป็นแบบอย่างที่ควรนำไปพัฒนาในพื้นที่อื่นๆเพื่อส่งเสริมความรู้และเพิ่มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบริการมีความหลากหลายและเข้มแข็งมากขึ้น

CHS03398.jpg
CHS02880.jpg

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในบ้านหรือการงานนอกบ้าน ผู้หญิงล้วนมีบทบาทสำคัญในการจัดการทั้งสิ้น ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินไปจนถึงการผลิตในเชิงเศรษฐกิจ การส่งเสริมอง์ความรู้กับผู้หญิงจึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการฟิ้นฟูระบบนิเวศบริการที่เข้มแข็ง

CHS03659_edited.jpg
CHS00136.jpg
bottom of page