top of page

Case Studies

ชีวิตสัมพันธ์ที่บ้านพุระกำ 

ชีวิตคนต้นน้ำที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน กำลังถูกท้าทายด้วยโครงการพัฒนาจากภาครัฐ

CHS05811.jpg

กรณีศึกษา : ชีวิตสัมพันธ์ที่บ้านพุระกำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

ผู้เขียน : กมลวรรณ เสาร์สุวรรณ

การอยู่ร่วมกันของคนกับป่าจะสามารถมีบริบทที่สอดคล้องกันอย่างไร ทั้งความสมดุลทางธรรมชาติกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ชุมชนจะต้องเผชิญหน้าและมีวิธีจัดการดูแลอย่างถูกต้องและยั่งยืน ภายใต้กฎหมายอนุรักษ์ป่าที่อยู่ในพื้นที่เขตมรดกโลก 

กรณีศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการของคนในชุมชนที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอก เพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสร้างรายได้ให้ชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถเป็นแบบอย่างให้กรณีศึกษาอื่นได้นำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล 

โครงการโดยสังเขป 

ในปี 2562 รัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ขึ้นใหม่ โดยมีสาระสำคัญเพื่อการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปพร้อมๆ กับการให้ความสำคัญกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 

บ้านพุระกำ เป็นหมู่บ้านที่ได้สำรวจพื้นที่ตามกระบวนการบทเฉพาะกาล มาตราที่ 121 ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว และได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศ ตามโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่า และสัตว์ป่าโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านในชุมชนจึงมีหน้าที่และบทบาทมากขึ้นในการร่วมดูแลผืนป่า เพื่อให้เกิดกระบวนการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างสมดุล ยั่งยืน และเป็นรูปธรรม สามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อนุรักษ์อื่นต่อไป  

ที่ตั้ง 

บ้านพุระกำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ม.6 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ประเทศไทย 

ผู้ได้รับประโยชน์ 

ชาวบ้านพุระกำ จำนวน 336 คน 

ขอบเขตความสนใจ 

การอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ในแนวเขตพื้นที่ทำกิน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน การปกป้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรอินทรีย์ การตระหนักรู้และการศึกษาด้านการจัดการพื้นที่ทำกิน รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เป้าหมายเพื่อการพัฒนายั่งยืนที่เกี่ยวข้อง (SDGs)

กลุ่ม People มิติการพัฒนาคน

01.png
02.png
05.png

กลุ่ม Planet มิติสิ่งแวดล้อม 

12.png
13.png
15.png

กลุ่ม Prosperity มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง 

11.png

กลุ่ม Partnership มิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา 

17.png
CHS06949.jpg

บ้านพุระกำ เป็นหมู่บ้านที่ได้สำรวจพื้นที่ตามกระบวนการบทเฉพาะกาล มาตราที่ 121 ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว และได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศ ตามโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่า และสัตว์ป่าโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี

ความเป็นมาและบริบท 

บ้านพุระกำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ทั้งบ้านเรือนและที่ทำกินอยู่บนพื้นที่ราบในหุบเขาสูง มีลำน้ำภาชีเป็นลำห้วยหลักไหลผ่านกลางหมู่บ้าน จึงมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่าบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้าน 

ชุมชนพุระกำ เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ในอดีตตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณ ”ใจแผ่นดิน” (ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี) สมัยก่อนชาวบ้านอยู่กันแบบกระจัดกระจายตามห้วยตามหนองของแนวเทือกเขาตะนาวศรี ต่อมามีการขยายครัวเรือนจึงค่อย ๆ อพยพลงมาอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นที่ราบตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของลำน้ำภาชีซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2526 หน่วยทหารกองพลพัฒนาที่ 1 ได้จัดสรรพื้นที่บริเวณพุระกำ (ที่ตั้งชุมชนในปัจจุบัน) ให้เป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือน และรวบรวมชาวบ้านมาอยู่เพื่อการดูแลที่ทั่วถึง 

ที่ตั้งของชุมชนบ้านพุระกำจัดอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ แวดล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้ มีลำน้ำภาชีเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนทั้งการอุปโภคบริโภค รวมถึงการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการปลูกผักขายตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ผักกูด เป็นต้น โดยส่งให้ตลาดภายในจังหวัดราชบุรี และตามรีสอร์ตต่าง ๆ ใน อ.สวนผึ้ง และยังมีเกษตรกรบางรายเริ่มแบ่งพื้นที่ที่ปลูกพืชไร่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน เนื่องจากผลผลิตมีมูลค่าสูงเป็นที่ต้องการของตลาดและเหมาะกับสภาพภูมิประเทศด้วยเคยเป็นผลไม้พื้นถิ่นมาก่อน ส่วนการทอผ้า การจักสาน ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มสมาชิกตามแนวทางส่งเสริมโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยส่งให้กับทางเจ้าหน้าที่โครงการฯ รับซื้อและนำไปขายต่อที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เป็นการดำเนินงานของกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน 

ด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ชุมชนใช้แสงสว่างจากระบบโซล่าเซลล์ของแต่ละครัวเรือน ใช้น้ำประปาภูเขา มีถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรังห่างจากถนนลาดยางบ้านหนองตาดั้งเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร มีการซ่อมบำรุงและดูแลโดยองค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี   

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน บ้านพุระกำใช้ระบบประปาหมู่บ้านจากลำห้วยสาขาของแม่น้ำลำภาชี การหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ส่วนใหญ่จะหาเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น ไม่ได้มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำเกษตรกรรม และทอผ้า ส่วนการรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชุมชนจะมีกลุ่มสมาชิกภายในชุมชนแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น กลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) มีหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมของกลุ่มได้แก่ กิจกรรมดับไฟป่า กิจกรรมการปลูกป่า การฟื้นฟูลำห้วย และลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 

CHS05461.jpg

ต้นกำเนิดและโครงสร้าง 

เป้าหมายหลักในการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่รูปธรรมของโครงการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ดีกินดี มีความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมของชุมชนบ้านพุระกำ 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลัก ชุมชนพุระกำมีการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งการทบทวนแนวเขตที่ทำกินชุมชนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 กำหนดกรอบกติกาการใช้ที่ดิน ติดป้ายพื้นที่ทำกินภายในชุมชนบ้านพุระกำโดยคณะกรรมการชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี การฝึกอบรมการใช้เครื่องมือจับพิกัดบนพื้นผิวโลก (GPS) การอ่านแผนที่ สร้างเครือข่ายการดับไฟป่าโดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทำแนวกันไฟ การลาดตระเวนร่วมกันระหว่างชุมชนบ้านพุระกำและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีประจำเดือน รวมถึงเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

การจัดอบรมเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์บ้านพุระกำ ทั้งวิธีการจัดการน้ำประปาภูเขาเข้าสู่แปลงเกษตร การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ใช้เอง การร่วมมือกันไม่ใช้สารเคมีในแปลงเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นสินค้าปลอดสารเคมี การฟื้นฟูแหล่งอาหารชุมชน อนุรักษ์พืชผักท้องถิ่น ผักพื้นบ้าน โดยการจัดเก็บข้อมูล เมล็ดพันธุ์ และเพาะปลูกกล้าไม้ไว้ในโรงเรือนของหมู่บ้าน 

ตลอดจนถึงจัดการประชุมร่วมให้เป็นเวทีชุมชนระหว่างชาวบ้านพุระกำ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมของแต่ละเดือน ซึ่งในการดำเนินงานโครงการฯ ชุมชนมีการบูรณาการความร่วมมือและระดมทรัพยากรขององค์กรภายในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี มีการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โครงการพระราชดำริฯ หมู่บ้านพุระกำ มีการส่งเสริมอาชีพงานทอผ้า งานจักสาน เพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์บ้านพุระกำ องค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี จัดการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนน ประปาภูเขา ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานทางเลือกภายในชุมชนเพื่อการผลิตสินค้า และการสื่อสาร สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสวนผึ้ง ส่งเสริมชุมชนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การจัดทำแผนชุมชน จัดตั้งกองทุนบทบาทสตรี กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ศูนย์เรียนรู้ชุมชนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยจัดทำแผนชุมชน สนับสนุนเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน กรมทหารพรานที่ 11 กองร้อยทหารพรานที่ 1402 ปฏิบัติภารกิจดูแลความมั่นคงพื้นที่ตามแนวชายแดน อำนวยการเพื่อให้เกิดความร่วมมือในกิจกรรมป้องกันไฟป่า ระหว่างชุมชนบ้านพุระกำกับชุมชนชายแดนฝั่งพม่า  

ในส่วนของชุมชนพุระกำ ตัวแทนแต่ละกลุ่มมีส่วนร่วมในรูปแบบของคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านพุระกำ ให้ข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบการดำเนินโครงการ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินโครงการในรูปแบบของกิจกรรม เข้ามามีบทบาท (Involve) และสร้างความร่วมมือ (Collaborate) 

กลุ่มผู้นำหมู่บ้านนำโดยผู้ชายบ้านพุระกำร่วมกำหนดกรอบแผนการดำเนินงาน ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มแม่บ้านมีบทบาทในกำหนดกิจกรรมเกี่ยวกับการทำแนวกันไฟป่าและการฟื้นฟูแหล่งอาหารของชุมชน กลุ่มเยาวชน รับผิดชอบกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ในระดับปฏิบัติ เช่น การดับไฟป่า การลาดตระเวนร่วม เป็นแรงงานสำคัญในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ กลุ่มอาชีพ รับผิดชอบเรื่องเกษตรอินทรีย์ และกิจกรรมสร้างผลิตภัณฑ์ชุมขน กลุ่มผู้นำทางธรรมชาติ กำหนดแนวทางการจัดการพื้นที่ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 และมาตรา 57 

สถานการณ์ในชุมชน 

กฎหมายอนุรักษ์ป่ากับพื้นที่ทำกิน 

จากการประกาศ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ของรัฐบาลที่มีหลักการสำคัญเพื่อการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไปพร้อมๆ กับการให้ความสำคัญกับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยกำหนดบทเฉพาะกาล มาตราที่ 121 ให้กรมอุทยานฯ สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตวป่า ภายใน 240 วัน และจัดทำเป็นโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า บ้านพุระกำเป็นหมู่บ้านที่ได้สำรวจพื้นที่ตามกระบวนการดังกล่าว โดยดำเนินการตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2562 มีจำนวนผู้ครอบครองทั้งสิ้น 30 แปลง คิดเป็นเนื้อที่จำนวน 409 ไร่ (สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง) 

ชุมชนบ้านพุระกำจึงมีหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ในแนวเขตพื้นที่ทำกิน ทั้งการติดป้ายพื้นที่ทำกินของแต่ละบ้านภายในชุมชนอย่างชัดเจน และมีการปลูกต้นไม้ตามแนวเขตที่ดิน ถึงแม้ภาครัฐจะอนุญาตให้สามารถปลูกไม้ใหญ่ อย่างไม้สัก ไม้พะยูง ในที่ดินทำกินเพื่อตัดได้ แต่ชาวบ้านก็ยังปลูกต้นไม้ไว้ตามแนวเขตที่เป็นรอยต่อระหว่างป่ากับพื้นที่ทำกินเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเรื่องข้อพิพาทที่ดินในอนาคต ซึ่งเคยเกิดกรณีโดนยึดที่ดินคืนให้รัฐมาแล้วในอดีต ชาวบ้านบอกว่าถ้าโดนยึดจริง ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเป็นร่มเงาให้กับป่าได้ 

CHS07594.jpg

นโยบายรัฐและภัยคุกคามจากภายนอก 

โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นโครงการประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุประมาณ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 38,600 ไร่ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เสนอโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพื้นที่หัวงานและอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี โดยมีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บ้านพุระกำตั้งอยู่ ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินกว่า 400 ไร่ 

แน่นอนว่าชาวบ้านพุระกำส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการฯ และเคยยื่นคัดค้านโครงการกับหน่วยงานรัฐหลายต่อหลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการโยกย้ายที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินผืนใหม่ที่คาดว่าจะได้รับการจัดสรรจากภาครัฐนั้นอยู่ห่างจากเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นที่ดินทำเหมืองแร่เก่า มีสภาพดินเป็นหิน ไม่มีหน้าดินเหลืออยู่ และยังไกลแหล่งน้ำจึงไม่สามารถทำเกษตรได้ 

กว่า 30 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านถูกอพยพจากพื้นที่ใจแผ่นดิน และลำห้วยต่าง ๆ ในผืนป่าแก่งกระจานมาอยู่ที่พุระกำ ต้องพากันเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างยากลำบาก จนมีที่ดินที่ทางรัฐจัดสรรให้ทำการเกษตรปลูกผักทำสวน มีผลผลิตส่งขาย มีรายได้และเศรษฐกิจที่มั่นคง ผืนดินแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำ จากผลการสำรวจพื้นที่ของ  ดร.ชวลิต วิทยานนท์ พบว่า ปลาที่พบในห้วยธารเขตป่าพุระกำนี้ โดยเฉพาะปลาดักแม่กลอง (หน้าตาคล้ายปลาดุก) กับปลาแขยงเขา ทั้ง 2 ชนิดบ่งบอกให้รู้ว่าคุณภาพห้วยน้ำและพื้นที่ป่าพุระกำนั้นดีมาก เป็นเสมือนดัชนีบ่งชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์อย่างเยี่ยมยอด เป็นป่าชั้น 1 เพราะถ้าป่าพัง น้ำจะพังตามมา ปลา 2 ชนิดนี้ จะสิ้นสูญไปก่อนปลาอื่น 

ปัจจุบันชาวบ้านลดการใช้ทรัพยากรจากป่า และยังเป็นผู้คอยดูแลเฝ้าระวังการเข้ามาลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าสงวน อีกทั้งมีโครงการหลวงและโครงการพัฒนาของรัฐเข้ามาสนับสนุนชาวบ้าน โดยชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี บ้านพุระกำจึงเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่คนอยู่กับป่าได้อย่างดีและช่วยดูแลฟื้นฟูป่า ซึ่งการให้ความร่วมมือกับรัฐทุกด้านก็หวังเพื่อช่วยเป็นเกราะปกป้องชุมชนให้มีที่ทำกินและป้องกันการถูกโยกย้ายไปยังที่อื่น ซึ่งการจะให้ชาวบ้านไปเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งคงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก และชาวบ้านเองไม่ควรตกเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป 

“ตั้งแต่มาอยู่ที่พุระกำ ชาวบ้านเลิกเข้าป่าล่าสัตว์ ไม่บุกรุกป่า เปลี่ยนมาปลูกต้นไม้ไว้ใช้เอง พยายามเป็นคนดีของรัฐมาโดยตลอด ทำงานร่วมกับป่าไม้ ช่วยดับไฟป่า ทำแนวกันไฟ เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง มีโครงการหลวง ทอผ้า ปลูกป่า เราให้ความร่วมมือทุกครั้ง เราปรับตัวกับการทำเกษตร ปลูกผักส่งขาย รายได้มั่นคง เรามีชีวิตดีขึ้นแล้ว เราก็ไม่ต้องการไปเริ่มต้นใหม่ เราถูกอพยพลงมาครั้งหนึ่งแล้ว ชาวบ้านทุกคนเข้าใจดีว่ารัฐจะใช้กฎหมายย้ายเราอีกครั้ง แต่ถ้ารัฐใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เราคงเลือกกลับเข้าป่าไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน แผ่นดินที่บรรพบุรุษของเราเคยอยู่จะดีกว่าต้องถูกบังคับไปอยู่ที่จัดสรรใหม่ ซึ่งไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่พุระกำ” เปเล่ กั่วพู่ 

อนึ่ง โครงการนี้มีข้อสังเกตุว่ามีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จเมื่อปี 2555 โดยรายงานการศึกษา EIA ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเมื่อปี 2560 จากนั้นได้นำเสนอรายงาน EIA ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2562 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีมติให้กรมชลประทานไปทบทวนผลการศึกษาในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการทำความเข้าใจกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ(บ้านพุระกำ) และทบทวนเรื่องการจัดสรรพื้นที่อาศัย ที่ทำกิน (แปลงอพยพ) 

CHS07671.jpg

“ตั้งแต่มาอยู่ที่พุระกำ ชาวบ้านเลิกเข้าป่าล่าสัตว์ ไม่บุกรุกป่า เปลี่ยนมาปลูกต้นไม้ไว้ใช้เอง พยายามเป็นคนดีของรัฐมาโดยตลอด ทำงานร่วมกับป่าไม้ ช่วยดับไฟป่า ทำแนวกันไฟ เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง มีโครงการหลวง ทอผ้า ปลูกป่า เราให้ความร่วมมือทุกครั้ง เราปรับตัวกับการทำเกษตร ปลูกผักส่งขาย รายได้มั่นคง เรามีชีวิตดีขึ้นแล้ว เราก็ไม่ต้องการไปเริ่มต้นใหม่ เราถูกอพยพลงมาครั้งหนึ่งแล้ว ชาวบ้านทุกคนเข้าใจดีว่ารัฐจะใช้กฎหมายย้ายเราอีกครั้ง แต่ถ้ารัฐใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เราคงเลือกกลับเข้าป่าไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน แผ่นดินที่บรรพบุรุษของเราเคยอยู่จะดีกว่าต้องถูกบังคับไปอยู่ที่จัดสรรใหม่ ซึ่งไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่พุระกำ” เปเล่ กั่วพู่ 

CHS06343.jpg

ความร่วมมือของคนพุระกำ 

 

การทำเกษตรอินทรีย์ 

บ้านพุระกำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกผักประเภทแตงกวา มะเขือ ถั่ว ขายส่งตลาดในตัวเมืองราชบุรี และยังมีผักกูดที่กำลังเป็นที่นิยมตามร้านอาหารและรีสอร์ตต่าง ๆ ใน อ.สวนผึ้ง เนื่องจากอยู่บริเวณต้นน้ำการปลูกผักของคนที่นี่จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และจะปลูกพืชสลับหมุนเวียนไปเพื่อบำรุงดิน จากแตงเป็นถั่วที่มีไนโตรเจน เมื่อเก็บถั่วหมด รากถั่วก็จะบำรุงดินไปในตัว การตัดหญ้าในแปลงก็เพื่อให้เป็นปุ๋ยต่อไป อีกทั้งชาวบ้านยังทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองโดยมีทหารจากกรมทหารพรานที่ 11 กองร้อยทหารพรานที่ 1402 เป็นผู้สอนให้ความรู้โดยมีศูนย์กลางการเรียนรู้ที่โรงเรือนเพาะชำของหมู่บ้านที่รวมทั้งการเพาะกล้าไม้ เช่น ประดู่ ยาง พะยูง ไม้แดง สำหรับนำไปปลูกตามแนวเขตที่ดิน และขยายพันธุ์พืชท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือทุเรียนที่นำเมล็ดพันธุ์มาจากใจแผ่นดิน เริ่มปลูกมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยมนัก มาระยะหลังที่ปลูกกันมากขึ้นก็ด้วยทุเรียนขายได้ราคาดี บางปีจะมีคนจองตั้งแต่ทุเรียนยังไม่สุก การปลูกทุเรียนยังส่งผลให้เกษตรกรลดการไถพรวน ลดการใช้สารเคมี และลดการเผาเศษวัชพืชลงได้ด้วย ชาวบ้านบางคนมีรายได้จากทุเรียนราว 50,000 - 60,000 บาทต่อปี และในอนาคตรายได้ของชาวบ้านจะสูงขึ้นตามผลผลิตทุเรียนที่ได้ลงทุนลงแรงปลูกไว้ 

“เราไม่ใช่ข้าราชการ เราเป็นเกษตรกร พืชผักเหล่านี้คือเงินบำนาญของเรา” เปเล่ กั่วพู่ 

01.png
02.png
05.png

การจัดการทรัพยากรพื้นที่ป่าต้นน้ำ 

การดำเนินงานจัดการทรัพยากรพื้นที่ป่าต้นน้ำในแง่ของการอนุรักษ์และปกป้องผืนป่า ชาวบ้านพุระกำมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทั้งการสำรวจแนวเขต การเก็บข้อมูล การจัดการไฟป่า การลาดตระเวนร่วมกัน เพื่อเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ดินและป้องกันการขยายแนวเขตที่ดินทำกิน คอยสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบุกรุกป่าล่าสัตว์ มีการติดกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ เพื่อสำรวจและจัดเก็บข้อมูลสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่รอบหมู่บ้าน เป็นการบ่งบอกว่าชาวบ้านไม่ได้รุกล้ำความเป็นป่ามากไปกว่าพื้นที่ทำกิน มีการทำแนวกันไฟโดยใช้เครื่องเป่าลม แรงงานชาวบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนก็เป็นลูกหลานชาวพุระกำ การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันจึงไม่มีปัญหามากนัก นอกจากเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชนอีกด้วย 

12.png
13.png
15.png
17.png

การพัฒนาความเป็นอยู่และตระหนักรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

บ้านเรือนของชาวพุระกำในปัจจุบันสร้างจากไม้สน ไม้ยูคาที่ปลูกเอง ร่วมกับการใช้วัสดุอื่นเช่น เสาปูน เมทัลชีท โดยซื้อไม้สนมากล้าละ 2.50 บาท ปลูกไว้ 4 - 5 ปี จึงตัดแล้วนำมาสร้างบ้านเรือนได้ บ้าน 1 หลังจะใช้ต้นสนประมาณ 10 - 15 ต้น หรือหากทิ้งไว้ให้โตอีก นานประมาณ 11 - 12 ปี ก็จะสามารถตัดขายได้ในราคาต้นละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง และยังลดการตัดไม้ในป่าได้อีกด้วย 

ในแต่ละปี ชาวบ้านพุระกำจะร่วมมือกันขุดลอกตะกอนดิน ทราย และอินทรียวัตถุ ออกจากฝายน้ำของระบบประปาภูเขาประจำหมู่บ้านเพื่อให้ระบบน้ำใช้การได้เป็นปกติ ระบบประปาภูเขานี้ใช้ทั้งอุปโภคบริโภคและทำเกษตรกรรมของหมู่บ้าน 

นอกจากนี้ยังมีโครงการหลวงที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องการทอผ้า การจักสาน ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว 

01.png
13.png

ผู้หญิงกับบทบาททางเศรษฐกิจในชุมชน 

กลุ่มผู้หญิงยังมีบทบาทสำคัญในระบบการเกษตรและเศรษฐกิจของชุมชน ทั้งการจัดการผลผลิตไปจนถึงนำออกไปขาย งานทอผ้า งานจักสาน ล้วนแต่เป็นงานที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือผู้หญิงแทบทั้งสิ้น ซึ่งยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว 

ผู้หญิงบางคนมีอาชีพหลักที่มีรายได้จากงานประจำรายเดือน ยังสามารถเพิ่มรายได้เสริมจากผลผลิตการเกษตรอย่างผักกูดที่ขายส่งในราคากิโลกรัมละ 40 – 50 บาท เฉลี่ยราวเดือนละ 8,000 บาท จนบางเดือนรายได้เสริมจากผักกูดก็มากกว่ารายได้หลักเสียอีก นับว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการจัดการ และขับเคลื่อนระบบต่าง ๆ ทั้งภายในครอบครัวและในชุมชนมากทีเดียว 

01.png
05.png
CHS06088.jpg

กลุ่มผู้หญิงยังมีบทบาทสำคัญในระบบการเกษตรและเศรษฐกิจของชุมชน ทั้งการจัดการผลผลิต

ไปจนถึงนำออกไปขาย งานทอผ้า งานจักสาน ล้วนแต่เป็นงานที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือผู้หญิงแทบทั้งสิ้น ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว 

ผลกระทบเชิงนโยบาย 

ผลกระทบจากนโยบายของชาติ 

บ้านพุระกำ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศ ตามโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี หลังจากที่มีการประกาศพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยโครงการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และดูแลทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมนี้ยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การตั้งรับปรับตัวของภูมิทัศน์กลุ่มป่าแก่งกระจานทั้งในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนบนฐานการจัดการร่วมกัน (Co-Management) เพื่อให้เป็นฐานทรัพยากรที่มั่นคงในระยะยาว 

การปรับปรุงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะช่วยให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตัวเอง ทั้งไม่ใช้สารเคมีในแปลงปลูก การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองจากวัสดุเหลือทิ้งตามธรรมชาติ การปลูกพืชผักแบบหมุนเวียนชนิด ไม่ซ้ำเดิม การตัดหญ้าในแปลงทำให้ดินมีสารอาหารเพียงพอในการปลูกพืชรอบต่อไป 

การนำระบบการจัดการประปาภูเขาเข้ามาช่วยในการปลูกผัก เช่นแปลงผักกูดในพื้นที่ที่อยู่ริมห้วย เพียงลงทุนจัดการต่อท่อประปาภูเขาและวางระบบน้ำภายในแปลงตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มทำก็จะได้น้ำมาใช้ในแปลงผักโดยควบคุมปริมาณน้ำด้วยสปริงเกอร์ นับเป็นตัวอย่างของการส่งเสริมการจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างดี 

 

บ้านพุระกำ มีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้มีความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากการที่มีโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ส่งเสริมงานทอผ้าโดยเจ้าหน้าที่โครงการฯ รับซื้อและนำไปขายต่อที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร นอกจากนี้ยังมีประเภทงานจักสานที่สามารถส่งขายในเมืองราชบุรีอีกด้วย 

การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการจัดระบบภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็งเกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนรวมถึงพัฒนากลไกการปรึกษาหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและสันติ 

การมีส่วนร่วมในวาระระดับโลก 

โครงการฯ มีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หลายประการ ได้แก่ ขจัดความยากจน (เป้าหมายที่ 1) ขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร (เป้าหมายที่ 2) สร้างความเท่าเทียมทางเพศสตรีและเด็กหญิงทุกคน (เป้าหมายที่ 5) สร้างเมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ปลอดภัย (เป้าหมายที่ 11) สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12) ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (เป้าหมายที่ 13) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก (เป้าหมายที่ 15) และการสร้างความร่วมมือสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17) ตัวโครงการฯ เองนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์และจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม ในแง่ของการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการฯที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย SDGs ที่กำหนดเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน โดยลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 

CHS07424.jpg

การพัฒนาต่อยอดและความยั่งยืน 

การทำซ้ำ 

การจัดการด้านงานอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติป่าต้นน้ำของบ้านพุระกำมีการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่สามัคคีกัน มองเห็นทิศทางการพัฒนาหมู่บ้านไปในแนวทางเดียวกัน จึงทำให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้รับการทำซ้ำ พัฒนาและส่งต่อองค์ความรู้นั้นไปเรื่อย ๆ โดยคนในชุมชนเอง จากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้การอยู่ร่วมกับป่าของคนพุระกำแทบจะเกิดปัญหาน้อยมาก คนพุระกำลดการใช้ทรัพยากรจากป่า ไม่บุกรุกแผ้วถางป่า อีกทั้งยังคอยปกป้องรักษาผืนป่าแหล่งต้นน้ำอันสามารถนำไปเป็นโมเดลต้นแบบในการจัดการดูแลป่าต้นน้ำแก่ชุมชนอื่นที่อยู่ในพื้นที่ป่าเช่นเดียวกันได้ 

“เคารพป่า เคารพธรรมชาติ” สงกรานต์ กั่วพู่ 

“เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” 

การพัฒนาต่อยอด 

ผลงานของบ้านพุระกำแสดงให้เห็นถึงชีวิตสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า จนได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศตามโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่า และสัตว์ป่าโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ชุมชนพุระกำได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมและกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในการจัดการดูแลและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ป่าและน้ำยังคงความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการพัฒนาคนในชุมชนให้มีทักษะและองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ทั้งด้วยการมีส่วนช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าต้นน้ำ การประยุกต์เอาธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการทำเกษตร เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีอื่น ดินก็ไม่เสื่อมโทรม การเผาป่าที่เป็นบ่อเกิดภาวะโลกร้อนก็ไม่เกิดขึ้นด้วยการหันมาทำไร่ถาวร เหล่านี้ชุมชนสามารถพัฒนาและต่อยอดไปถึงการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเพิ่มเติม เพิ่มรายได้จากผลผลิตที่หมุนเวียนสร้างรายได้ให้ทั้งปี ความอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นการลดปัญหาอื่น ๆ ที่จะตามมา 

“หากป่าต้นน้ำยังอุดม คนก็ยังดำรงอยู่ได้” 

ความยั่งยืน 

บ้านพุระกำ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน GEF SGP ที่ดำเนินงานโดย UNDP โดยชุมชนจะดำเนินการต่อยอดขยายผลงานอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562ต่อไปอีกโดย ชุมชนมีฐานข้อมูลในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน มีรายได้ที่เกิดจากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนนำมาจัดตั้งเป็นกองทุน เพื่อกิจกรรมรักษาป่า ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานท้องถิ่น เป็นพื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนคนอยู่กับป่า” ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และเนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้แนวชายแดน ไทย - พม่า บ้านพุระกำยังสามารถเป็นฐานเพื่อขยายแนวคิดด้านการอนุรักษ์ชุมชนชายแดน ไทย – พม่า สู่แนวทางการจัดการพื้นที่มรดกโลกต่อไป 

CHS08128.jpg

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, ชะตากรรม'กะเหรี่ยงพุระกำ' ถูกรุกพื้นที่ เพื่อสร้างเขื่อน, 2563. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/897395?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=judprakai-social 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, ดูปลา เห็นป่า ในวันที่'ป่าพุระกำ'กำลังจะถูกทำร้าย, 2563. จาก https://www.bangkokbiznews.com/health/899114 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, สำรวจพันธุ์ปลาปูป่าต้นน้ำ บ้านกะเหรี่ยง'พุระกำ' ความหลากหลายที่กำลังจะหายไป, 2563. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/897559?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=judprakai-social 

นูรซาลบียะห์ เซ็ง, ชาวพุระกำ ค้าน อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง กระทบที่ทำกิน ด้านที่ปรึกษาสำนักนายกฯ ยัน ชาวบ้านไม่ต้องย้ายออก โครงการอื่นไม่มีสิทธิ์แทรกแซง, 2563. จาก https://www.seub.or.th/bloging/news/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B3-%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%99/ 

ไทยโพสต์, ชาวบ้านพุระกำประจานอีไอเอกรมชลฯสร้างเขื่อนกั้นต้นน้ำลำภาชี อ้างป่าเสื่อมโทรมทั้งที่อุดมสมบูรณ์, 2563. จาก https://www.thaipost.net/main/detail/78473 

สยามรัฐออนไลน์, กะเหรี่ยงบ้านพุระกำเฮ! ได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับป่า, 2563. จาก https://siamrath.co.th/n/185699 

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีชาวบ้านพุระกำประกาศพร้อมใจกลับแผ่นดิน หากรัฐอนุมัติสร้างเขื่อนทับชุมชน หวั่นความขัดแย้งซ้ำกรณีบางกลอย, 2565. จาก https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG220203110831887 

สำนักข่าวชายขอบ, ชาวบ้านพุระกำประกาศพร้อมกลับใจแผ่นดิน หากรัฐอนุมัติสร้างเขื่อนทับชุมชน ด้านหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ หวั่นความขัดแย้งซ้ำกรณีบางกลอย, 2565. จาก https://transbordernews.in.th/home/?p=30281 

CHS08217.jpg
bottom of page