top of page

ความหวังใหม่ในลุ่มน้ำพุง

จากการพัฒนาป่าส่วนรวมสู่การส่งเสริมป่าส่วนตัว

ความหวังใหม่ในลุ่มน้ำพุง

จากการพัฒนาป่าส่วนรวมสู่การส่งเสริมป่าส่วนตัว

 

บ้านน้ำพุงตั้งอยู่ในตำบลบ้านโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นต้นน้ำกำเนิดของ ต้นน้ำพุง มีเนื้อที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศ มีความลาดชันโดยเฉลี่ย ระหว่าง 25 – 35 องศา การใช้ประโยชน์ที่ดินสามารถจำแนกเป็น ร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ภูเขา ร้อยละ 20 เป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ตำบลโป่งมีระดับความสูงโดยเฉลี่ย 700 เมตรจากระดับทะเล จึงทำให้มีอากาศเย็นสบายเกือบตลอดปี อุณหภูมิของตำบลโป่ง จะร้อนที่สุดในเดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 34 – 38 องศาเซลเซียส และต่ำสุดในเดือนมกราคม โดยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีเท่ากับ 25 องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยของตำบลโป่ง รวมตลอดทั้งปี 1,079.1 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันที่ฝนตก เฉลี่ยตลอดปี 117 วัน โดยฝนจะตกในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึงตุลาคม เฉลี่ยรวม 100 วัน โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุด 2,000.8 มิลลิเมตร (อ้างอิงที่มาข้อมูล : องค์การบริหารส่วนตำบลโป่ง)  

ตำบลบ้านโป่ง ร้อยละ 80 มีที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูเปือย - ภูขี้เถ้า - ภูเรือ จึงทำให้มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เป็นการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5 ) ร้อยละ 20 มีระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินคือ สปก. 4 - 01 และ นส.3 ที่ดินของตำบลโป่งส่วนใหญ่อยู่นอกระบบชลประทานแต่เป็นพื้นที่ต้นน้ำซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ต้นน้ำป่าสักเป็นอย่างมาก ในทางวิชาการจัดให้ลุ่มน้ำพุงเป็นลุ่มน้ำย่อย ส่วนที่ 2 ของลุ่มน้ำป่าสัก โดยลุ่มน้ำพุงมีความสำคัญในการเป็นต้นน้ำ ซึ่งในระบบนิเวศน์มีลำน้ำสายเล็กๆ เหมือนเลือดฝอยที่ไหลหล่อเลี้ยงลุ่มน้ำพุงมากมาย  ได้แก่ ห้วยชะนางงู ห้วยตอง  ห้วยลาด  ห้วยกกเม่า  ห้วยน้ำมี  ห้วยดงทิพย์ ห้วยทุ่งเทิง ห้วยปมปลาหวาย  ห้วยแงด  ห้วยโป่ง  ห้วยโป่งบง   ห้วยขาไก่ เพราะฉะนั้น ด้วยลักษณะนิเวศน์ที่มีลำน้ำสายเล็กสายน้อยกระจายตัวอย่างหนาแน่น จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืช  พรรณสัตว์  และป่าไม้ หลากหลายชนิด   แต่อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะที่ตั้งของพื้นที่ตำบลโป่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน  หมู่บ้านที่มีที่ตั้งในเขตสันเขาหลายหมู่บ้านค่อนข้างขาดแคลนน้ำ ได้แก่  บ้านทุ่งเทิง บ้านปางคอม ซึ่งใช้ระบบน้ำประปาจากน้ำใต้ดิน ส่วนหมู่บ้านที่มีน้ำตลอดปีเพราะมีที่ตั้งอยู่ริมห้วยน้ำพุง ได้แก่ บ้านด่านดู่ บ้านน้ำพุง บ้านวังกุ่ม บ้านกกกะบาก  ชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้าน  จะใช้ระบบน้ำประปาภูเขาเป็นน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน  ดังนั้นชุมชนจึงมีแรงจูงใจในการรักษาป่าเพื่อรักษาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคนั่นเอง  

ทั้งนี้โครงการพัฒนาการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าหรือแหล่งน้ำนั้นมักเน้นไปที่พื้นที่ส่วนรวมเสียเป็นส่วนใหญ่ มีการตั้งกฏกติกากันขึ้นในชุมชน แต่การบังคับใช้ก็ไม่เป็นที่ชัดเจน และมีความซับซ้อนละเอียดอ่อน เพราะต่างฝ่ายต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงมีชาวบ้านใช้แนวคิดในการส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบริการจากพื้นที่ส่วนตัวในที่ทำกินที่มีเจ้าของ เพื่อเพิ่มขยายขอบเขตการอนุรักษ์ออกจากพื้นที่ส่วนรวม เช่นที่บ้านน้ำพุงมีการส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศบริการจากพื้นที่ส่วนบุคคลจึงเป็นความท้าทายใหม่ในการทำงานในพื้นที่ภูมิทัศน์เทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย "ผมได้แนวคิดมาจากชาวบ้านคนหนึ่งว่าถ้าเราพัฒนาแต่แหล่งทรัพยากรที่เป็นพื้นที่ส่วนรวมมันจะขยายขอบเขตไปได้ไม่ไกล การรู้สึกมีส่วนร่วมก็น้อย เขาแนะนำให้เราพัฒนาจากพื้นที่ทำกินส่วนตัวด้วย อย่างเช่นในที่ดินของเขาแบ่งมาเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัก 300 เมตร ก็จะเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ได้ ถ้าชาวบ้านร่วมกันแบ่งที่ให้คนละ 300 เมตร 10 คนก็ 3,000 เมตร ขอบเขตการอนุรักษ์ก็จะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ฟื้นฟูระบบนิเวศ แล้วชาวบ้านก็จะมีรายได้หมุนเวียนจากพืชพันธุ์อื่นๆได้อีกหลายทาง" จีระศักดิ์ ตรีเดช เลขานุการเครือข่ายประชาสังคมเทือกเขาเพชรบูรณ์เล่าที่มาของการปรับเปลี่ยนโครงการพัฒนาจากพื้นที่ส่วนร่วมสู่พื้นที่ส่วนตัว

บีกั้ง
CHS00630.jpg
CHS01239.jpg
CHS00564.jpg

รักษาลำห้วยไม่ให้เหือดแห้ง รักษาคุณภาพน้ำให้สะอาด

ลำห้วยหลังบ้านของพ่อฉลาด ศรีคำภา มีท่อพีวีซีที่ต่อน้ำประปาภูเขาลงไปยังหมู่บ้านหลายเส้น ภายใต้ป่าไผ่ร่มครึ้มนี้ สายน้ำไม่เคยหยุดไหล หลายครัวเรือนใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภคจากตรงนี้ การรักษาแหล่งต้นน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชาวบ้าน ทั้งรักษาปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในรอบปี และรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดเพื่อใช้บริโภค เพราะน้ำคือหัวใจหลักในการหล่อเลี้ยงชุมชน

 

ที่ริมตลิ่งภายใต้ร่มไม้ใหญ่และใกล้ก่อไผ่ยังเป็นดงของต้น "บีกั้ง" (ลิงลาว | Tupistra muricata ) ไม้พื้นถิ่นที่จะออกดอกเพียงปีละครั้งในฤดูหนาว เป็นอาหารตามฤดูกาลที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน อีกทั้งในเชิงนิเวศยังเป็นพืชคลุมดินเพิ่มความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ใหญ่ริมห้วย และที่สำคัญยังป้องกันการพังทลายของหน้าดินริมตลิ่งอีกด้วย การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นบีกั้งจึงเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติ ต้นพันธุ์บีกั้งได้ถูกแจกจ่ายไปให้สมาชิกกลุ่มนำไปปลูกในพื้นที่สวนของตัวเอง เป็นการส่งเสริมเพิ่มศักยภาพการฟื้นฟูระบบนิเวศ เพิ่มแหล่งอาหารและรายได้ของชาวบ้านน้ำพุง

ยังมีพืชพันธุ์อีกหลายชนิดที่เครือข่ายฯสนับสนุนให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนมาปลูกแทนการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยทุเรียนคือต้นไม้ที่เป็นแรงดึงดูดให้ชาวบ้านแบ่งพื้นที่จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกได้มากที่สุด เพราะในเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจของทุเรียน และยังมีผลไม้อื่นๆ อาทิ อะโวคาโด้ ส้ม เงาะ มังคุด มะขาม ก่อ ฯลฯ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าส่วนตัวด้วยการปลูกไม้เศรษฐกิจโดยเฉพาะ "ยางนา" ด้วย

 

CHS01806.jpg
DSC02945.jpg

"ทุเรียน" ทางเลือกใหม่ของเกษตรกร

ทุเรียนเป็นพืชที่สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านแบ่งพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวมาทำไร่สวนผสม เพราะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็นที่ต้องการของตลาด 

การปลูกทุเรียนนั้นยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรแบบเดิมที่ต้องใช้สารเคมีด้วย เพราะเกษตรกรทราบดีว่าการใช้สารเคมีนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุเรียนที่มีความอ่อนไหวต่อสารเคมีอย่างมาก การใส่ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้านั้นจะทำให้ต้นทุเรียนตายได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอย่างมาก การกำจัดวัชพืชจะใช้การตัดเป็นหลัก ลดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรได้มากกว่าการใช้สารเคมี เศษวัชพืชยังถูกนำมาเป็นปุ๋ยหมักได้อีกด้วย

CHS01699.jpg

ความหลากหลายเพิ่มแหล่งอาหารและสร้างรายได้หมุนเวียน

เมื่อรูปแบบการเพาะปลูกของชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงโดยการแบ่งพื้นที่จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำสวนผสมผสานที่เน้นปลูกไม้ยืนต้น  โดยมีทุเรียนเป็นแรงจูงใจ การปลูกทุเรียนนั้นยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรแบบเดิมที่ต้องใช้สารเคมีด้วย เพราะเกษตรกรทราบดีว่าการใช้สารเคมีนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุเรียนที่มีความอ่อนไหวต่อสารเคมีอย่างมาก การใส่ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้านั้นจะทำให้ต้นทุเรียนตายได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอย่างมาก การกำจัดวัชพืชจะใช้การตัดเป็นหลัก ลดผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรได้มากกว่าการใช้สารเคมี เศษวัชพืชยังถูกนำมาเป็นปุ๋ยหมักได้อีกด้วย

 

นอกจากสวนผลไม้ที่มีทั้งทุเรียน เงาะ อะโวคาโด้ ส้ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนในการเพาะพันธุ์ต้นกล้าผลไม้จากสมาคม โดยเฉพาะต้นพันธุ์ทุเรียนนั้นมีราคาสูง การได้กล้าทุเรียนไปแบบไม่มีต้นทุนจึงเป็นแรงดึงดูดให้ชาวบ้านหันมาแบ่งพื้นที่ทำไร่สวนผสม นอกจากกล้าทุเรียนแล้วยังมีการส่งเสริมความรู้ในการปลูกผักพื้นบ้านอีกหลายชนิด ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาเหมือนเดิมหลังจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมาอย่างยาวนาน "บางอย่างก็ขายได้ปีละเป็นหมื่นๆ เรามีรายได้หมุนเวียนจากพืชหลายชนิดตามฤดูกาล" พ่อฉลาด เล่าถึงมูลค่าพืชผักที่ปลูกอยู่ทั่วสวน การมีรายได้ที่หมุนเวียนทำให้ชาวบ้านไม่ต้องลงทุนก้อนใหญ่เหมือนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว แล้วรอขายเพื่อเอาเงินก้อนโตหรือบางครั้งอาจขาดทุนเพราะราคาผลผลิตจากเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นมีราคาไม่แน่นอน

CHS01679.jpg
CHS01708.jpg
Screen Shot 2565-01-29 at 14.30.02.png

"ป่าส่วนตัว" สร้างป่าของตัวเองในพื้นที่ส่วนตัว ลดการใช้ทรัพยากรจากป่าอนุรักษ์

ชาวบ้านยังมีป่าส่วนตัวซึ่งมีต้นยางนา ต้น ก่อ และไม้ยืนต้นอื่นๆอีกหลายชนิด ไม้ยืนต้นเหล่านี้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และเป็นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งยังฟื้นฟูระบบนิเวศที่เคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ให้ความชุ่มชื้น ระยะเวลาสามปีที่ป่าส่วนตัวของชาวบ้านคนหนึ่งทั้งต้นยางนาและต้นก่อสูงท่วมหัว กะด้วยสายตาแล้วน่าจะราวๆ 4-5 เมตร ในอนาคตอันใก้ลนี้ ป่าตรงนี้จะร่มครึ้มเป็นป่าทึบ  ชาวบ้านยังสร้างให้ป่านี้เป็นแหล่งอาหารได้อีกด้วย โดยจะมีการใส่เชื้อเห็ดลงไปทั่วพื้นที่ป่า เมื่อถึงฤดูกาลของเห็ดชาวบ้านก็จะมีอาหารและยังเป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง ประโยชน์อีกอย่างของป่าส่วนตัวนี้คือการเป็นที่อนุบาลสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น นก หนู กระรอก หรือแม้แต่งูเหลือมก็ยังมาอาศัยหากิน การดูแลรักษาพื้นที่ป่าส่วนตัวนั้น ชาวบ้านจะให้ความสำคัญเหมือนกับป่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสวนผลไม้ถึงแม้จะไม่ได้ให้ผลผลิตที่สร้างรายได้เหมือนสวนผลไม้ก็ตาม ต่างจากโครงการปลูกป่าแบบอื่นๆที่ปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งจนต้นไม้ตาย ซึ่งไม่สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศขึ้นมาได้จริง 

รูปแแบการทำเกษตรผสมผสานนอกจากจะลดพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวลงแล้ว ยังส่งผลให้มีการจัดการป้องกันไฟป่าที่มากขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะชาวบ้านจะป้องกันไม่ให้ไฟเข้ามาไหม้ถึงสวนของตนเองได้ เนื่องจากต้นไม้ที่มีทั้งทุเรียน เงาะ ไผ่ ยางนา ต้นก่อ อะโวคาโด้ กาแฟ และพืชพันธุ์อื่นๆล้วนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงเป็นการลดการเผาไหม้พื้นที่เกษตรลงไปได้ แม้ยังคงมีการเผาอยู่บ้างก็จะมีการทำแนวกันไฟ ไม่ปล่อยในลามไปแบบไม่มีขอบเขต หากเกษตรกรรายใดที่เผาไร่แล้วไฟลามไปไร่อื่นก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้เสียหายด้วย แตกต่างจากการเผาไร่แล้วไฟลามไปในป่าส่วนรวม ซึ่งไม่ค่อยมีใครสนใจนัก การลดการเผาจึงช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศและปัญหาโลกร้อนซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

CHS09875.jpg

ที่ดินของลุงหมวดเป็นที่ที่คนชอบเอาขยะมาทิ้งกัน แม้จะแจ้งหน่วยงานต่างๆไปหลายครั้งก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พ่อฉลาดกับลุงหมวดจึงหาทางช่วยกันทำให้ที่รกร้างกลายเป็นสวนผสม ทำให้ไม่มีคนมาทิ้งขยะอีก

เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนผสมที่กินก็ได้ขายก็ได้

"ลูกไม่อยากให้ไปขับรถขายกับข้าวแล้ว อายุเยอะแล้วอยากให้อยู่บ้าน เลยเอาเวลาว่างมาทำสวน" ลุงหมวด เจ้าของที่ดินเชิงเขาในหมู่บ้านน้ำพุงเล่าถึงที่มาของสวนเกษตรผสมผสานที่มีต้นทุเรียนอยู่ทางเข้าหน้าสวน ใกล้ๆกันเป็นกอกล้วยใหญ่หลายกอ หลายพันธุ์ ลุงหมวดพาเดินลงเนินเขามาที่กระท่อม สองข้างทางเดินเต็มไปด้วยผักสวนครัวนานาชนิด รอบกระท่อมก็เต็มไปด้วยไม้จำพวกฟักหอม แตง และฟักทอง อีกฟากหนึ่งเป็นพื้นที่ปลูกต้นกาแฟซึ่งเป็นพืชที่กำลังเป็นที่นิยมในประเทศไทย กระนั้นองค์ความรู้ทางด้านกาแฟของเกษตรกรก็ยังไม่มากพอ ทั้งเรื่องของสายพันธุ์และการโปรเสจ รวมถึงด้านการตลาดด้วย เป็นจุดที่ต้องเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้

การทำเกษตรสวนผสมยังทำให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เป็นงานที่ไม่หนักและเร่งรีบเกินไป ผู้สูงอายุได้ใช้ทักษะและองค์ความรู้ที่มีมาใช้ประโยชน์ เป็นการสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ได้ออกกำลังกายไปในตัว การไม่ใช้สารเคมีทำให้ปลอดภัยจากสารตกค้าง "เราไม่อยากใช้ยา พอผลผลิตออกมาจะส่งไปให้ลูกหลานเราก็สบายใจลูกหลานเราได้กินอาหารปลอดภัย" ลุงหมวดเล่าให้ฟัง

ภรรยาของลุงหมวดจะทำหน้าที่ดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยาไล่แมลงซึ่งทำมาจากอินทรีย์ โดยได้องค์ความรู้มาจากการอบรมจากหน่วยงานต่างๆ "บางอย่างก็ดูจากเฟชบุคและยูทูบ" และการดูจากสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นข้อดีอย่างมากของเทคโนโลยี ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้อย่างมาก การเรียนรู้ของผู้หญิงนั้นสร้างบทบาทสำคัญทางด้านงานอนุรักษ์และเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี มีความปลอดภัย บทบาทของผู้หญิงนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการผลิต การศึกษาหาความรู้จากสื่อออนไลน์ก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในการปรับตัว

CHS00099.jpg
CHS00143.jpg
Dansai-238.jpg

ก่อไผ่ที่หายไป

ตลิ่งหลายจุดของแม่น้ำพุงมีร่องรอยของการกัดเซาะจากแรงน้ำในฤดูน้ำหลาก หากแต่พื้นที่ที่มีก่อไผ่นั้นจะไม่พังทลาย การปลูกไผ่ช่วยลดการกัดเซาะได้อย่างดี ต่างจากพื้นที่เกษตรที่ทำเชิงเดี่ยวและไม่มีต้นไม้ป้องกันตลิ่ง ทำให้ตลิ่งพังทลายลงมา การพังทลายของตลิ่งชี้ให้เห็นว่าระบบนิเวศริมตลิ่งนั้นถูกทำลายไปมาก ต้นไม้ทั้งเล็กใหญ่ที่เคยขึ้นอยู่ริมตลิ่งจะถูกถากถางออกจนหมดสิ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว สภาพดินที่แข็งและไม่เกาะตัว ไม่มีรากไม้คอยยึดและให้ความชุ่มชื้น จึงถูกกัดเซาะรุนแรงเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก 

โครงการปลูกไผ่ริมตลิ่งที่ริเริ่มโดยพ่อฉลาด ศรีคำภา จึงเป็นสิ่งที่เครือข่ายฯร่วมส่งเสริมเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูระบบนิเวศริมน้ำ กล้าไผ่จากการสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF-SGP ได้ถูกแจกจ่ายไปให้กับผู้ที่สนใจนำไปปลูกทั้งริมแม่น้ำ และปลูกเป็นป่าไผ่ 

 

นอกจากป้องกันพังทลายของหน้าดินริมตลิ่งแล้ว ไผ่ยังเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ทั้งในรูปแบบของหน่อไม้ เห็ด และหนอนรถด่วนรากไผ่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ไม้ไผ่ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง ทั้งงานก่อสร้างหรือทำเครื่องใช้ต่างๆ จะเห็นได้ว่าไผ่นั้นมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและวิถีชีวติของชาวบ้านอย่างแยกกันไม่ได้ การส่งเสริมการปลูกไผ่จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ให้ผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

CHS01901.jpg
CHS00478.jpg
CHS_8692.jpg

ความท้าทายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบริการให้สมบูรณ์ในลุ่มน้ำพุงยังมีความท้ายทายใหม่ๆอีกมาก และการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ก็เริ่มต้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฟื้นฟูระบบนิเวศไปพร้อมกับการสร้างรายได้ของชาวบ้าน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้สามารถตั้งรับ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้ และในอนาคต สร้างความยั่งยืนให้ระบบการผลิต สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน

bottom of page