โป่งลึก-บางกลอย
โป่งลึก-บางกลอย
“ไร่หมุนเวียนผืนสุดท้ายกับชีวิตใหม่ที่ไม่ง่าย”
กรณีชาวบ้านบางกลอยบนและชาวบ้านใจแผ่นดินที่มีความขัดแย้งกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชรวมทั้งข่าวคราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์จากเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้านการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมในระดับสากลอย่างมาก แม้ว่าทาง UNESCO จะประกาศให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว แต่ความเป็นไปและทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในป่ายังคงมีจุดที่ต้องแก้ไขกันอีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการรักษาและฟื้นฟู ระบบนิเวศบริการอย่างยั่งยืน ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกอพยพลงมานั้น หลายครอบครัวได้รับที่ทำกินที่จัดสรรให้แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ยังไม่มีแม้แต่ที่จะปลูกบ้านเป็นของตัวเอง ในด้านที่ทำกินนั้น ทางหน่วยงานของรัฐได้เลือกพื้นที่รอบหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง ให้ชาวบ้านทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน แต่ก็ยังพบปัญหาทั้งเรื่องน้ำและคุณภาพของดินที่ไม่สามารถสร้างผลผลิตที่ดีได้ ซึ่งรูปแบบการจัดสรรและการสร้างอาชีพให้
ผู้อพยพที่ลงมาจากบางกลอยบนนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิถีการทำเกษตรที่พึ่งพาตัวเองอย่าง "ไร่หมุนเวียน" ซึ่งเป็นรูปแบบการเกษตรที่สามารถจัดการตัวเองได้ มีความมั่นคงทางอาหารสูง และไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากนัก แต่สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องงานอนุรักษ์ป่านั้น “ไร่หมุนเวียน” ในผืนป่าแก่งกระจาน ถือเป็นการคุกคามระบบนิเวศของกลุ่มป่าที่ยอมให้มีไม่ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการหยุดระบบการเกษตรที่อยู่ร่วมกับป่ามาอย่างยาวนาน และมีความมั่นคงทางอาหารสูงนี้ไป หลายองค์กรพัฒนามักมีโครงการอย่างเช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร แต่ก็ไม่สนับสนุนระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่มีการเก็บเมล็ดพันธุ์มากมายไว้อยู่แล้ว หลายโครงการสนับสนุน การพึ่งพาตัวเอง ปลูกเองกินเอง ลดรายจ่าย แต่ก็ไม่สนับสนุนไร่หมุนเวียนที่เป็นแหล่งอาหารหลักที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ แต่กลับส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวขายหรือแม้จะเป็นไร่ผสมผสานก็ยังไม่มีความหลากหลายเท่ากับไร่หมุนเวียน และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การตัดระบบการเกษตรไร่หมุนเวียน ทำให้ชาวบ้านไม่มีข้าวกิน เมื่อปลูกข้าวไม่ได้จึงต้องซื้อข้าวกิน หน่วยงานรัฐส่งเสริมให้ปลูกกล้วย ทุเรียนและพืชพันธุ์อื่น ๆ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปขายและเอารายได้มาใช้จ่าย ซื้อข้าวกินแทน ตัดระบบที่ผลิตทุกอย่างกินเองด้วยกฎเกณฑ์ทางการอนุรักษ์ ซึ่งแม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกถึงรายละเอียดว่าการทำเกษตรระบบไร่หมุนเวียนนั้นสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนก็ตาม
ระบบการทำไร่หมุนเวียนยังเป็นการเกษตรที่ไม่พึ่งพาสารเคมีในการผลิต แต่ต้องมีการถางและเผาเพื่อให้ดินมีแร่ธาตุพอที่จะเพาะปลูก การเผานี้ไม่ใช่การเผาป่า แต่เผาเฉพาะที่ดินที่จะเป็นแปลงเกษตรหลังจากที่ทิ้งร้างไว้ 7 ปี เพื่อฟื้นฟูดิน และการเผานี้เองที่เป็นข้อขัดแย้งกับนักอนุรักษ์ที่มีแนวคิดป่าปลอดคน แต่เมื่อมองภาพระยะยาว การทำเกษตรแบบถาวรในอนาคตนั้นต้องใช้สารเคมีทั้งในการบำรุงพืช การป้องกันโรคและแมลงอย่างแน่นอนเพราะเป็นการทำซ้ำในที่เดิมเป็นเวลานาน ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นต้นน้ำและไหลไปสู่คนปลายน้ำ ทั้งนี้เมื่อมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้แล้ว ชาวบ้านบางส่วนก็ได้ทดลองปลูกพืชพันธุ์เพื่อส่งขายโดยเฉพาะกล้วย แต่ด้วยระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการผลผลิตให้ได้ดีเท่าที่ควร เช่นถนนที่เข้าออกอย่างยากลำบากทำให้การขนส่งสินค้าไม่สะดวก เพิ่มต้นทุนการขนส่งรวมทั้งผลผลิตถูกจำกัดราคา ด้านการพัฒนาแปรรูปก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีไฟฟ้า ระบบน้ำประปาก็ยังไม่มีคุณภาพที่ดีพอเศรษฐกิจชุมชนจึงไม่มีการหมุนเวียนมากเท่าที่ควร และการสูญเสียระบบการเกษตรที่พึ่งพาตัวเองไป จึงทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก หากินในป่าก็ไม่ง่ายนักเพราะมีกฎหมายอนุรักษ์คอยกำกับอย่างเข้มงวด โชคดีที่ชาวบ้านยังมีแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำที่พอให้ได้หากินอยู่บ้างจากปัญหามากมายในพื้นที่ดังกล่าว
โครงการของ GEF SGP จึงร่วมกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน พยายามที่จะเอาความต้องการของชาวบ้านมาทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านให้ดีขึ้น ร่วมกันฟื้นฟู และรักษาระบบนิเวศบริการให้ยั่งยืน โดยเริ่มต้นด้วยการท่องเที่ยวชุมชนและการส่งเสริมการปลูกพืชที่มีขนาดเล็ก ขนส่งง่าย เช่น กาแฟ ทั้งนี้จากการสอบถามชาวบ้านหลายคนถึงการจัดการท่องเที่ยวชุมชน พบว่าชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าถึงการจัดการการท่องเที่ยวด้วยตนเองได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์ของอุทยานฯ เท่านั้น เช่น การเข้าหมู่บ้านต้องไปซื้อตั๋วที่ที่ทำการอุทยานฯ ก่อน ซึ่งห่างจากทางเข้าหมู่บ้านหลายสิบกิโลเมตร และเงินค่าเข้านั้นก็ตกเป็นของอุทยานฯ ฝ่ายเดียว "เหมือนนักท่องเที่ยวซื้อตั๋วมาหาพวกเรา" ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว ส่วนการทำโฮมสเตย์ ลานกางเต็นท์ โดยชาวบ้านเองยังไม่ได้รับอนุญาตจากอุทยานฯ ทำให้ชาวบ้านสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพั กค้างแรมจำกัดอยู่ที่ลานกางเต็นท์ของอุทยานฯ เท่านั้น “เราพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวชุมชนนะ เรามีองค์ความรู้ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจธรรมชาติได้มากขึ้น” ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าถึงความหวังที่จะได้ทำโฮมสเตย์และนำเที่ยว หากทางอุทยานฯ อนุญาตให้ทำ เยาวชนคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าไร่หมุนเวียนยังอยู่หนูอยากเป็นไกด์พาเที่ยวไร่หมุนเวียน เที่ยวป่า หาปลากัน ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตจริง ๆ ของพวกเรา อยากให้รู้ว่าเรารักป่ามากแค่ไหน” ในด้านการผลิตกาแฟยังคงต้องใช้เวลาการเรียนรู้ทั้งกระบวนการผลิตกาแฟอีกมาก แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทั้งโป่งลึกและบางกลอยนั้นสามารถปลูกกาแฟคุณภาพดีได้ ขั้นตอนต่อไปคือการส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟ ทั้งการเก็บ การตากการจัดเก็บ การคั่ว และการทำการตลาด ทั้งนี้กาแฟของบ้านโป่งลึก-บางกลอย ก็ได้รับการตอบรับจากองค์กรเอกชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีการให้ความรู้กระบวนการผลิตกาแฟมากขึ้น อีกทั้งผู้นำชุมชนก็เดินทางไปเรียนรู้เรื่องราวของกาแฟจากนอกชุมชนอย่างจริงจังด้วย ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีในระยะยาวสำหรับพืชชนิดนี้เนื่องจากมีการจัดการขนส่งง่ายกว่าพืชที่มีน้ำหนักเยอะ หากมีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่สามารถเสริมสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรได้ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาผลผลิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยได้
แม้ปัญหาของบางกลอยจะเป็นจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งในกลุ่มป่าแก่งกระจานอันกว้างใหญ่ แต่ก็เป็นจุดที่ส่งผลต่ออีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย จึงต้องนำมาเป็นกรณีศึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน