เกาะลันตา
"บนเส้นทาง Krabi Go Green...การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตกระบี่"
เกาะลันตาบนเส้นทาง "Krabi Go Green"
เรื่องและภาพ : วัจนพล ศรีชุมพวง
พื้นที่ภูมิทัศน์อ่าวลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ยุทธศาสตร์ภูมินิเวศเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวเชิงสังคม เศรษฐกิจ และภูมินิเวศอ่าวพังงา ประเทศไทย
เกาะลันตา อยู่ในชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ภูมิทัศน์ของพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่ชายฝั่ง ชายหาด เกาะ หญ้าทะเล ป่าชายเลน คลองและแม่น้ำ ที่เชื่อมต่อจากภูเขาสู่ทะเล จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่สำคัญเป็นจำนวนมาก
อำเภอเกาะลันตา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดกระบี่ มีเนื้อที่รวม 220,000 ไร่ มีพื้นที่เกาะใหญ่น้อย จำนวน 53 เกาะ และมีเกาะที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวน 6 เกาะ โดยมีเกาะขนาดใหญ่ จำนวน 3 เกาะคือ เกาะกลาง เกาะลันตาน้อย และเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นเกาะบริวาร
ฝั่งตะวันออกของเกาะลันตามีพื้นที่ส่วนมากเป็นป่าชายเลนที่ได้รับการฟื้นฟูจากชุมชนจนมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถทำหน้าที่สนับสนุนระบบนิเวศโดยรวมและการดำรงชีพของผู้คน พื้นที่ป่าไม้เป็นแหล่งต้นน้ำยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ โดยแยกเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 181,565 ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลน 50,373.67 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขา ส่วนพื้นที่ราบจะอยู่บริเวณเชิงเขาและชายทะเล ลักษณะของดินเป็นดินปนทราย
บนพื้นที่เกาะลันตาใหญ่มีคลองหลัก 3 สาย คือ คลองจาก คลองน้ำจืด และคลองหินที่มีน้ำไหลตลอดปี สัตว์น้ำจากทะเลและป่าชายเลนเป็นทรัพยากรหลักที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีพของผู้คนบนเกาะมาอย่างยาวนานด้วยการทำประมง นับตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่เข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่บนเกาะลันตาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ปัจจุบันสภาพโดยรวมของเกาะลันตาเปลี่ยนไปสู่ภาคการท่องเที่ยว กระนั้นทรัพยากรสัตว์น้ำจากทะเลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่
แนวทางการพัฒนาเมืองแบบภาพรวมในอนาคตของชุมชนลันตา ซึ่งกลุ่มเครือข่ายชาวบ้านลันตาเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาในทุก ๆ เรื่องของชุมชนนั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะลันตา (Lanta Go Green) โดยเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการจัดทำร่วมกันกันระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น และระดับจังหวัด
จากแนวคิดข้อตกลงการขับเคลื่อนร่วมกันในระดับจังหวัดภายใต้ชื่อ "การพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่สู่ความยั่งยืน (Krabi Go green)" ซึ่งมีการยกระดับเป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดกระบี่ โดยมีเกาะลันตาเป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่องในการลงมือปฏิบัติ ซึ่งได้มีการกำหนดร่วมกันในระดับจังหวัดโดยยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย
1) พัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) และเพิ่มศักยภาพให้ให้มาตรฐานระดับสากล
2)ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตด้านการเกษตรและการแปรรูปสินค้าอย่างครบวงจรควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาดและพลังงานทางเลือก
3) เสริมสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนสู่สังคมน่าอยู่และปรับตัวรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลง
4) อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
แนวทางการพัฒนาเมืองแบบภาพรวมในอนาคตของชุมชนลันตา ซึ่งกลุ่มเครือข่ายชาวบ้านลันตาเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาในทุก ๆ เรื่องของชุมชนนั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะลันตา (Lanta Go Green) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการจัดทำร่วมกันกันระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนากระบี่อย่างยั่งยืน
เกิด เติบโต และปกป้องกระบี่จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา เกิดและเติบโตที่เกาะลันตา สมัยก่อนเกาะลันตาโดยรวมมีสภาพเป็นทุ่งนา ประกอบด้วยชายหาด สวนมะพร้าว ทางเกวียนและทุ่งนาจรดเชิงเขา เกาะลันตาโดดเด่นในเรื่องความสงบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และประกอบด้วยชุมชนที่ครอบคลุม กลุ่มชาติพันธุ์ที่ประกอบด้วย ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื่อสายจีน ชาวไทยพุทธ และชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะลันตามากกว่า 400 ปี โดยกลุ่มชาติพันธ์ุแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่คือ ชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งมักจะจับจองพื้นที่บริเวณอ่าวริมทะเล แต่เนื่องจากวัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลและผลกระทบที่เกิดจากอำนาจของรัฐไทยในอดีตทำให้ชาวเลอูรักลาโว้ยมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้ง
พื้นที่ตั้งถิ่นฐานเดิมโดยส่วนใหญ่จึงถูกครอบครองโดยผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาต่อมา คือ มุสลิม ชาวจีน และชาวไทยพุทธจากแผ่นดินใหญ่ตามลำดับ ปัจจุบันพื้นที่เกาะลันตาจึงมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยหลายวัฒนธรรมอยู่ร่วมกัน ทั้ง ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ และชาวเลอูรักลาโว้ย
ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ยังเป็นตัวแทนเครือข่ายชุมชนจากเกาะลันตายุคเริ่มต้น ในการเข้ารวมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของจังหวัดกระบี่ ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน และกลายเป็นปากเสียงให้คนจังหวัดกระบี่เรื่อยมา ทั้งนี้ศักยภาพของเกาะลันตาในหลายมิติทั้งด้านความหลากหลายของระบบนิเวศซึ่งทำให้มีความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งความงดงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโต ซึ่งทางเกาะลันตาส่งเสริมมีการท่องเที่ยวแบบไร้มลพิษ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญให้จังหวัดกระบี่ต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือในปัจจุบันชุนชนบนเกาะลันตาหลายกลุ่ม หลายชาติพันธุ์ เริ่มมองเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เริ่มมีแนวคิดในส่วนภาคประชาชนเองเพิ่มมากขึ้น ได้เรียนรู้การเสนอแนวความคิดของชุมชนเองผ่านการเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยให้ภาคประชาชนมีบทบาทและเพิ่มน้ำหนักของความมั่นใจในชุมชนด้วยกันเองยิ่งขึ้น เพราะชุมชนเองที่รู้จักสภาพพื้นที่ของตัวเองดีที่สุด เช่น สภาพทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และความเข้าใจในระบบนิเวศของพื้นที่ การพูดคุยและเสนอแนวคิดจากชุมชนจึงเป็นสิ่งที่จะนำมาพัฒนาชุมชนได้ดีที่สุดมากกว่าการคิดพัฒนามาจากข้างนอกชุมชน
"ทุกวันนี้โครงการต่างๆที่ทำอยู่เกิดจากชุมชนลันตาเอง เช่น การท่องเที่ยวแบบไร้มลพิษ และหลายๆแนวคิดมีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต ก่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชนลันตา เป็นประโยชน์ของกระบี่ ตอบโจทย์เรื่องกระบี่โกกรีน"
ปัจจุบันจังหวัดกระบี่ ดำเนินการภายใต้แนวคิด กระบี่ โก กรีน อย่างช้า ๆ แต่ยั่งยืน โดยภาพลักษณ์เกาะลันตาได้กลายเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการทางด้านระบบนิเวศและการเพิ่มศักยภาพของชุมชน อีกทั้งยังสร้างระบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนอีกด้วย โดยมีแนวร่วมจากภาคเอกชนกับชุมชน ช่วยกันขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก
ธีรพจน์ ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานว่า "โรงแรมหลายแห่งในเกาะลันตา หันมาทดลองใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นของตัวเองมากขึ้น ตอบโจทย์เรื่องลันตาโกกรีน โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวในชุมชนเกาะลันตา ส่งผลโดยตรงให้ต้นทุนลดลง เกิดผลดีต่อธุรกิจ และเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนเริ่มได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีขึ้น"
"ทุกวันนี้โครงการต่างๆที่ทำอยู่เกิดจากชุมชนลันตาเอง เช่น การท่องเที่ยวแบบไร้มลพิษ และหลายๆแนวคิดมีโอกาสเป็นไปได้ในอนาคต ก่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชนลันตา เป็นประโยชน์ของกระบี่ ตอบโจทย์เรื่องกระบี่โกกรีน"
ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา
นราธร หงส์ทอง ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง (ชุมชนต้นแบบในลันตา)
นราธร หงส์ทอง เล่าถึงชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็งซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนบนเกาะลันตาว่า "การท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนเปรียบเสมือน "ยา" ที่ใช้เยียวยาให้ชุมชนมีความสมดุลในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เปรียบเหมือนการรักษาผู้คนในสังคมให้อยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข ในอดีตหลายๆสิ่งที่หายไปได้เริ่มกลับคืนมาในวันนี้แก่บ้านทุ่งหยีเพ็ง"
กลุ่มการท่องเที่ยวบ้านทุ่งหยีเพ็ง ใช้ระยะเวลาร่วม 20 ปี ในการก่อร่างกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ หลังผ่านวิกฤติเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย ทางชุมชนร่วมกันช่วยเหลือตัวเองในฟื้นฟูระบบนิเวศดูแลป่าชายเลนทุ่งหยีเพ็งตลอดกว่า 10 ปี ต่อมาภายใต้เงื่อนไขที่ลงตัวและสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่ดีขึ้นอย่างเด่นชัด จึงได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ให้เป็นพื้นที่จัดการโดยชุมชนเอง จากนั้นต่อมารัฐบาลผ่านร่างกฏหมายพรบป่าไม้ชุมชน จนวันนี้ทำให้ป่าชายเลนทุ่งหยีเพ็งเป็นป่าต้นแบบของการดูแลรักษาด้วยชุมชนแบบถาวร และนอกจากจะถือเป็นป่าทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทุ่งหยีเพ็งยังควบเรื่องการท่องเที่ยวทางนิเวศอีกด้วย เพราะว่าชุมชนเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องจัดการการท่องเที่ยวป่าชายเลนที่ทำให้เกิดมุมของแนวทางเศรษฐกิจชุมชน ผ่านความชัดเจนในการบริหารจัดการของเครือข่ายชุมชนเอง
กล่าวถึง ซอล์ฟพาวเวอร์ ทางนิเวศของทุ่งหยีเพ็งซึ่งเป็นอีกพื้นฐานสำคัญ และถูกใช้มุมมองในการจัดการธรรมชาติอย่างยั่งยืนเป็นหลักตลอดมา และชุมชนเองยังสร้างเกราะป้องกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบทุนที่มุ่งถาโถมเข้ามาในอนาคตต่อไป
เรื่องสำคัญนอกเหนือจากนิเวศทางทะเล ยังมีเรื่องพืชพันธ์ุท้องถิ่นในชุมชนจำนวนมากที่เคยถูกมองข้าม ไม่สนใจ ปล่อยให้สูญหายไปจากผลกระทบจากการใช้สารเคมีหรือการทำการเกษตร เป็นโจทย์ที่ท้าทายของชุมชนทุ่งหยีเพ็งในการที่จะรักษาพืชพันธ์ุเหล่านี้ไว้ให้มีใช้อย่างยั่งยืนและจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเพิ่มการขยายพันธ์ุพืชประจำถิ่นที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเหล่านี้ได้
ต้นลำเพ็งคือตัวอย่างของชนิดพันธุ์ท้องถิ่นที่ถูกคุกคาม ถูกปล่อยปละละเลย ถูกแผ้วถางทำลายเพื่อเปลี่ยนพื้นที่สำหรับทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวของชุมชน หลังจากมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์จากต้นลำเพ็งมากขึ้นทั้งเป็นอาหารซึ่งนิยมนำยอดอ่อนมาลวก ต้มกะทิ และได้ถูกต่อยอดมาเป็นเมนูด้านสุขภาพที่ต่อมาชาวบ้านช่วยกันพัฒนาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ชาสำหรับชงดื่ม มีคุณสมบัติที่ดีต่อร่างกายมากมาย และยังมีรสชาติหวานได้กลิ่นไอของทะเล ทำให้มีการฟื้นฟูต้นลำเพ็งมากขึ้น เป็นตัวอย่างของการจัดการธรรมชาติและการท่องเที่ยวเข้าด้วยกันด้วยพืชท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ความเข้มแข็งของทุ่งหยีเพ็งมีบทบาทสำคัญในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้สมดุลกับการท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์ให้กับเกาะลันตาและจังหวัดกระบี่ จนกลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ได้ศึกษาดูงานเป็นจำนวามากในปัจจุบัน
การเคลื่อนไหวในภาคประชาชนอีกเรื่องที่โดดเด่นของทุ่งหยีเพ็งคือ "โครงการบ้านบวก" คือการสร้างความเข็มแข็งให้คนในชุมชนและสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ปัจจุบันกลุ่มทุนภายนอกคืบคลานเข้ามาอย่างต่อเนื่องภายหลังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาโรคระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบแก่ระบบเศรษฐกิจภาพรวม ที่ดินคือเป้าหมายลำดับแรกของกลุ่มทุนภายนอกในการเช่าหรือซื้อจากคนในชุมชน การให้ความรู้และสนับสนุนการสร้างรายได้ด้วยตนเอง จะทำให้ชุมชนเรียนรู้การหารายได้จากการท่องเที่ยว ทดลองทำตามความรู้ความสามารถจากคนในครอบครัวกันเอง เช่น การทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวดแผนโบราณ เป็นต้น นอกจากทำให้คนในชุมชนไม่สูญเสียรายได้ ยังสามารถรักษาที่ดินและจัดการทรัพยากรท้องถิ่นด้วยชุมชนเองอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นราธรบอกว่าตอนนี้ความยาก คือเรื่องการแข่งกับเวลา เครือข่ายชุมชนเราต้องเริ่มทำงานเชิงรุกเข้าหาชาวบ้านให้มากขึ้น สร้างความรู้และโอกาสในการสร้างรายได้ของตนเองให้กับชุมชนทุ่งหยีเพ็งต่อไป
"เรื่องสำคัญนอกเหนือจากนิเวศทางทะเล ยังมีเรื่องพืชพันธ์ุท้องถิ่นในชุมชนจำนวนมากที่เคยถูกมองข้าม ไม่สนใจ ปล่อยให้สูญหายไปจากผลกระทบจากการใช้สารเคมีหรือการทำการเกษตร โจทย์คือจะทำอย่างไรได้บ้าง ในการที่จะรักษาพืชพันธ์ุเหล่านี้ไว้ ให้มีใช้อย่างยั่งยืนและทำอย่างไรเพื่อช่วยเพิ่มการขยายพันธ์ุพืชประจำถิ่นที่มีความสำคัญและหลากหลายเหล่านี้ได้"
นราธร หงส์ทอง ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง
"กลุ่มการท่องเที่ยวบ้านทุ่งหยีเพ็ง ใช้ระยะเวลาร่วม 20ปี ในการก่อร่างกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ หลังผ่านวิกฤติภัยพิบัติ
สึนามิในประเทศไทย ทางชุมชนร่วมกันช่วยเหลือตัวเองในฟื้นฟูระบบนิเวศดูแลป่าชายเลนทุ่งหยีเพ็งตลอดกว่า 10 ปี
ต่อมาภายใต้เงื่อนไขที่ลงตัวและสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่ดีขึ้นอย่างเด่นชัด จึงได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ให้เป็นพื้นที่จัดการโดยชุมชนเอง
จากนั้นรัฐบาลผ่านร่างกฏหมายพรบป่าไม้ชุมชนจนวันนี้ทำให้ป่าชายเลนทุ่งหยีเพ็งเป็นป่าต้นแบบของการดูแลรักษาด้วยชุมชนแบบถาวร"