ห้วยน้ำกืน
รักษาป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิต
"รักษาป่าไว้ให้โลก ปลูกชาไว้ให้ลูก"
บ้านห้วยน้ำกืนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในป่าต้นน้ำแม่ลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ภายหลังในปี พ.ศ.2538 มีการประกาศป่าบริเวณตอนเหนือของเชียงใหม่และบางส่วนในอำเภอเวียงป่าเป้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ บ้านห้วยน้ำกืนจึงกลายเป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เหมือนกับอีกหลายชุมชนในบริเวณนั้น
แม้จะผ่านปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับที่ทำกินมาพอสมควร แต่ ณ วันนี้บ้านห้วยน้ำกืนก็ปรับตัวจนเป็นชุมชนต้นแบบในการอยู่ร่วมกับป่าอุทยานที่มีศักยภาพทั้งในด้านเศรษฐกิจชุมชนและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการดูแลรักษาป่าต้นน้ำแม่ลาวร่วมกับอีกหลายชุมชนในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ป่าและน้ำยังคงหล่อเลี้ยงผู้คนในลุ่มน้ำแม่ลาวและไหลเรื่อยลงไปยังแม่น้ำกก สู่ปลายทางที่แม่น้ำโขง
การคมนาคมระหว่างเมืองเวียงป่าเป้ากับบ้านห้วยน้ำกืนในอดีตนั้นยากลำบาก เริ่มจากใช้การเดิน พัฒนามาเป็นถนนดิน และล่าสุดทางกรมอุทยานและทางหลวงชนบทได้สร้างถนนคอนกรีตเข้ามาให้เขตป่าอุทยานแล้ว เนื่องด้วยหมู่บ้านกลุ่มต้นน้ำขุนลาวนี้มีการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจที่ดีและยังรักษาสภาพความสมบูรณ์ของป่าและคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ ทำให้ทางอุทยานแห่งชาติขุนแจอนุญาตให้มีการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ทั้งถนนหนทางและสายส่งไฟฟ้า
"เมื่อก่อนพ่อมารับจ้างเก็บใบเมี่ยง (ชาอัสสัม) ตั้งแต่ทางยังไม่มี ก็ขุดทางกันมา หาบข้าวมากินกัน" พ่อมิตรและแม่หล้า เล่าถึงการเดินทางมาบ้านห้วยน้ำกืนในอดีต ประมาณปี พ.ศ. 2525 – 2530 ค่าจ้างเก็บใบเมี่ยงจะอยู่ที่ 10 บาทต่อใบเมี่ยง 14 กิโลกรัม และปรับราคาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเดี๋ยวนี้ได้ราคาดีกิโลกรัมละ 10 บาท จึงกล่าวได้ว่าด้วยภูมิประเทศที่เหมาะสม ชาเมี่ยงหรือชาอัสสัมจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับชาวบ้านห้วยน้ำกืน โดยสามารถเก็บได้เกือบตลอดทั้งปี
"ชานี่มันขายได้ทั้งหมด ยกเว้นต้นนี่แหละที่ยังไม่ได้ตัดขาย" ชาวบ้านคนหนึ่งบอกถึงมูลค่าของชาที่สามารถนำไปขายได้ทุกส่วนตั้งแต่ยอดอ่อนที่มีมูลค่ากิโลกรัมละ 500 บาท ไปจนถึงใบแก่และกิ่งก้านของชาที่เอาไปบดแล้วขายให้โรงงานทำชาก็ยังได้
ต้นชาอายุหลายสิบปีบ่งบอกการมีอยู่ของชุมชนมาอย่างยาวนาน และชาเหล่านี้ที่บรรพบุรุษปลูกไว้เป็นสมบัติล้ำค่าให้กับคนรุ่นต่อมา แม้บางช่วงเวลาจะมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวบ้าง แต่ต้นชาก็ไม่ถูกโค่นทิ้งไปทั้งหมด ยังคงหลงเหลือส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบันได้พัฒนาคุณภาพ แปรรูป และนำออกไปขายด้วยตัวเอง สร้างรายได้และความภาคภูมิใจในการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
ไฟฟ้านำความเจริญสู่ชุมชน ก่อนการเข้ามาถึงของไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2559 วิถีชีวิตของชุมชนรวมไปถึงผลผลิตทางการเกษตรอย่างใบชานับว่าไม่ดีนัก ใบชาถูกขายออกไปในรูปแบบของใบชาสดซึ่งมักจะถูกกดราคาเนื่องจากความเสียหายบ้าง ต้นทุนจากการขนส่งบ้าง แต่ในปัจจุบันเมื่อมีไฟฟ้าทำให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งการส่งเสริมของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการตลาด เช่น กองทุนหมู่บ้านในการจัดหาเครื่องมือและสร้างโรงอบชาของชุมชน รวมไปถึงกระทรวงพลังงานที่เข้ามาสนับสนุนการสร้างโรงอบใบชาพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและปริมาณการผลิตของชาวบ้านให้ดียิ่งขึ้น
ด้านการคมนาคมในขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติขุนแจและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนของชุมชนจึงมีโครงการสร้างถนนคอนกรีตเพื่อให้เป็นทั้งเส้นทางคมนาคม ขนส่งผลผลิต และเส้นทางท่องเที่ยวในอนาคต
ซึ่งการคมนาคมที่ดีส่งผลต่อคุณภาพสินค้าโดยตรง อีกทั้งลดต้นทุนและย่นระยะเวลาในการขนส่งอีกด้วย มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
ป่าชุมชนบ้านห้วยน้ำกืนไม่เพียงแต่เป็นแหล่งปลูกชาชั้นดีเท่านั้น ระบบนิเวศบริการที่สมบูรณ์ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารตามฤดูกาลให้กับชุมชนอีกด้วย ความหลากหลายของระบบนิเวศของป่าชุมชนทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและบางชนิดที่มีมากเกินบริโภคก็จะนำไปขายสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย
พื้นที่สวนของชาวบ้านปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชหลากหลายชนิดแทนการปลูกพืชชนิดเชิงเดี่ยว ซึ่งมีทั้งมะขามป้อม อะโวคาโด แมคคาเดเมีย พลับ ฯลฯ และพืชพื้นถิ่นที่เคยต้องเข้าไปหาในป่า เช่น มะกิ้ง นางลาว ต้างหลวง มะแขว่น ฯลฯ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากป่าลงได้อย่างมาก พืชผักสวนครัวก็มีปลูกไว้กินใช้ในครัวเรือนกันแทบทุกบ้าน
ไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ ถูกนำมาปลูกในสวนจนเต็มพื้นที่ โดยได้รับการส่งเสริมพันธุ์ไม้ต่าง ๆ จากโครงการหลวงและ GEF SGP Thailand การปลูกพืชหลากหลายชนิดทำให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ไม่ต้องรอคอยการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวเหมือนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และที่สำคัญมากสำหรับชุมชนที่อยู่ต้นน้ำนั่นคือการงดใช้สารเคมีในการทำเกษตร เพราะกลัวการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ใต้น้ำลงไป
ในสวนยังมีรังผึ้งตั้งไว้มากมาย การเลี้ยงผึ้งโพรงในป่าเช่นนี้ทำให้ได้น้ำหวานที่มีรสชาติเหมือนกับน้ำผึ้งโพรงจากป่า ผึ้งยังช่วยผสมเกสรให้พืชผลของชาวบ้านอีกด้วย น้ำผึ้งของบ้านห้วยน้ำกืนเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนที่มาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านและเป็นสินค้าที่ส่งขายทางออนไลน์ด้วย
“เราส่งขายตามออนไลน์บ้าง เขามารับซื้อทีละเยอะ ๆ บ้าง ตามช่องทางออนไลน์ก็ให้เด็ก ๆ ช่วยขาย”
การปลูกไม้ประดับชนิดต่าง ๆ เช่น สับปะรดสี กุหลาบหิน ฯลฯ เป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับกลุ่มเปราะบางเช่นเด็ก สตรี และผู้สูงอายุในชุมชน
การคัดแยกชาแห้งยังเป็นอีกรายได้ของผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ที่สามารถทำงานอยูกับบ้านได้ นอกจากเป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุในชุมชนให้ดีอยู่เสมอ
ด้านการท่องเที่ยวชุมชนนั้นสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละประมาณ 500,000-1,000,000 บาทเลยทีเดียว กิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาหมู่บ้านห้วยน้ำกืนได้ก็คือป่าและธรรมชาติอันงดงาม บวกกับวิถีชีวิตและอากาศที่เย็นสบาย ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวในชุมชนคือการเดินป่าขึ้นไปยอดดอยมด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เทือกเขาผีปันน้ำ" น้ำจากยอดดอยนี้จะไหลลงไปเขื่อนสามแห่งด้วยกันคือ
เขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่งัด และเขื่อนดอยงู
ชุมชนมีการจัดระบบการท่องเที่ยวอย่างดีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ระบบการกำจัดขยะ และการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนด้วยการขายอาหารและผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น รวมทั้งธุรกิจที่พัก โฮมสเตย์
ในอนาคตเมื่อถนนภายในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจสร้างเสร็จแล้วนั้น ทางชุมชนมีโครงการปลูกต้นพญาเสือโคร่งตลอดแนวถนน เพื่อใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย
"เราจะทำถนนซากุระเมืองไทยที่ยาวที่สุดในประเทศไทย" พ่อหลวงเสถียร ชัยนาม เล่าถึงโครงการท่องเที่ยวในอนาคต ถือเป็นการลงทุนทางธรรมชาติที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างดี
การรักษาไว้ซึ่งทุนทางธรรมชาติของชุมชนนั้นเริ่มจากพื้นฐานการปกป้องผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าทดแทน การสร้างแนวกันไฟ ซึ่งทำเป็นประจำทุกช่วงฤดูแล้ง ผู้ชายสะพายเครื่องตัดหญ้าบ้าง แบกเครื่องเป่าลมบ้าง ผู้หญิงซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปพร้อมกับคราด แล้วขึ้นไปทำแนวกันไฟบนสันเขาสูงเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร พื้นที่ป่าต้นน้ำได้รับการปกป้องอย่างดีจากชาวบ้าน เป้าหมายของพวกเขานั้นชัดเจนว่าต้องการรักษาป่าไว้ ทุนทางธรรมชาติที่ชุมชนมีนั้นก็ตอบแทนพวกเขาด้วยการมีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ดี
กล่าวได้ว่าชุมชนห้วยน้ำกืนนั้นประสบกับปัญหาไฟป่าน้อยมาก เนื่องด้วยภูมิประเทศและชุมชนโดยล้อมนั้นมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทำให้ชุมชนที่อยู่ในป่าชั้นในอย่างห้วยน้ำกืนนั้นไม่มีปัญหาไฟป่ามากนัก แต่กระนั้นยังคงมีการเฝ้าระวังไฟป่ากันอยู่ทุกปี มีการทำแนวกันไฟอยู่อย่างสม่ำเสมอ
"มีผืนดินอย่างเดียวไม่ได้
ต้องมีป่ามีน้ำด้วย
คนจึงจะอยู่ได้"
เสถียร ชัยนาม ผู้ใหญ่บ้านห้วยน้ำกืน
ชุมชนห้วยน้ำกืนจึงนับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีการตั้งรับ ปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง การดูแลรักษาป่า ฟื้นฟูป่า และทำเกษตรที่เป็นมิตรกับผืนป่า ล้วนเป็นการส่งต่อความยั่งยืนไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์สิบปีที่ทางชุมชนได้กำหนดไว้คืออยากให้ลูกหลานได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิใจที่บ้านเกิดของตัวเองท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีรายได้ที่ยั่งยืน