top of page

ต้นน้ำขุนลาว

"กาแฟอินทรีย์รักษาป่า" เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ 2553 โดยชุมชนบ้านขุนลาวและกรมอุทยานฯ ได้มีการหารือและสำรวจพื้นที่ร่วมกันจนได้ข้อสรุปว่า กาแฟ เป็นพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าต้นน้ำ ขนาดต้นที่ไม่สูงนักสามารถปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องถางพื้นที่เปิดป่าเพื่อเพาะปลูกใหม่  ซึ่งตลาดกาแฟกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลผลิตมีตลาดรองรับทั้งภาคเอกชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าของบ้านขุนลาวเอง จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟอินทรีย์กันมากขึ้นพร้อม ๆ กับการรักษาป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาว

ชุมชนบ้านขุนลาวตั้งอยู่ที่ ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในป่า อดีตเคยมีอาชีพหลักคือการปลูกชาอัสสัมแล้วแปรรูปทำเป็นชาหมักหรือชาเมี่ยง ราวปี 2520 - 2530 ชาเมี่ยงยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอยู่มาก มีความต้องการสูงสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างดี แต่ในปัจจุบันความต้องการของตลาดที่ลดลงและสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดและเสาวรส และพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งการเปิดป่าเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและการใช้เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าและชุมชน และที่สำคัญคือส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำแม่ลาว

ภายหลังการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขุนแจ ตามประกาศจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับชาวบ้านอย่างมากในเรื่องสิทธิในที่ทำกิน "เขาไปจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนแจ ชาวบ้านไม่มีใครรู้เลย" อภิรุณ คำปิ่นคำ เล่าความเป็นมาของการประกาศอุทยานแห่งชาติขุนแจ จากนั้นบ้านขุนลาวจึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติเหมือนกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียง

เมื่อประกาศอุทยานแห่งชาติไปแล้ว ชาวบ้านจึงต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินและกระบวนการในการผลิต เริ่มจากการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินให้ชัดเจน แยกป่าอนุรักษ์และที่ทำกินรวมทั้งป่าชุมชนออกจากกัน มองหาพืชทางเลือกที่จะเหมาะสมกับพื้นที่และสร้างรายได้ที่ดีให้เกษตรกรด้วย

CHS03839.jpg
CHS03849.jpg
CHS03533.jpg
CHS03832.jpg

"ก่อนหน้านี้กาแฟที่ปลูกก็ส่งไปให้โรงงานในเชียงใหม่ ไม่ได้มีคุณภาพมากนัก จนผมเริ่มโครงการ กาแฟอินทรีย์รักษาป่า ในปี 2553 เพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟให้มีมูลค่าสูงขึ้นและมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" อภิรุณ คำปิ่นคำ เล่าถึงที่มาของกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ซึ่งปัจจุบันกาแฟนั้นกำลังได้รับความนิยมมาก จึงมาทดแทนชาเมี่ยงที่กำลังลดความนิยมลง ทำให้เกษตรกรหันมาจริงจังกับการผลิตกาแฟอินทรีย์มากขึ้น

โดยกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาวเป็นกาแฟคุณภาพดีอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทั้งได้รับมาตรฐาน PGS Organic มาตรฐาน มกท.จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) มาตรฐานในการส่งออกเพื่อนำเข้าประเทศกลุ่ม EU และ USDA Organic ซึ่งกว่าจะผ่านมาตรฐานเหล่านี้ได้จะต้องมีกระบวนการผลิตที่มาตรฐานตรวจสอบได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีตกค้างทั้งในผลิตภัณฑ์และพื้นที่เพาะปลูก

 

กระนั้นสิ่งสำคัญที่จะได้มาตรฐานจากองค์กรเหล่านี้คือชาวบ้านต้องได้รับการรับรองการใช้ที่ดินทำกินอย่างถูกต้องจาก

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเสียก่อน ซึ่งในหลาย ๆ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์มักประสบปัญหาไม่ได้การรับรองจากกรมอุทยานฯหรือกรมป่าไม้ จึงไม่สามารถพัฒนาผลผลิตให้ไปสู่ระดับสากลได้ ทว่าการต่อสู้และทำให้เห็นว่ากาแฟและป่าอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านชุมชนขุนลาวนั้น ทำให้เป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงาน จนผลักดันกาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ

 

กลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าได้ส่งกาแฟเข้าประกวดด้านคุณภาพระดับประเทศ จนได้รับรางวัลชนะเลิศมา 2 ปีซ้อน ในปี พ.ศ.2556 และ พ.ศ. 2557 สร้างชื่อเสียงให้กาแฟขุนลาว คุณภาพของกาแฟขุนลาวนั้นก้าวขึ้นไปเป็นกาแฟระดับโลกที่ส่งออกไปหลายประเทศ โดยเฉพาะในโซนยุโรป และอเมริกา

ขณะเดียวกันทางกลุ่มก็ได้มีการขยายผลส่งเสริมการปลูกกาแฟในรูปแบบโมเดลเดียวกันไปอีกหลายหมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย เช่นใน อ.เวียงป่าเป้า ได้แก่ บ้านขุนลาว บ้านห้วยคุณพระ บ้านห้วยมะเกี้ยง-ปางไคร้ ในเขต อ.แม่สรวย ได้แก่ บ้านดอยช้าง บ้านใหม่พัฒนา บ้านผาแดงหลวง และบ้านปางขอน ใน อ.เมือง

CHS03237.jpg
CHS03399.jpg

"ถ้าชาวบ้านอิ่มปากอิ่มท้อง ก็มีแรงช่วยกันดูแลป่า"

 

อภิรุณ คำปินคำ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านขุนลาว 

นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ชาวบ้านยังช่วยกันดูแลรักษาป่าอันเป็นทั้งแหล่งต้นน้ำและพื้นที่ปลูกกาแฟของพวกเขาด้วย การปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่นั้นให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง กาแฟสุกช้า สะสมแร่ธาตุไว้ในเมล็ดได้สูง ซึ่งทำให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้ยืนต้นในสวนกาแฟของตนเองมากขึ้นด้วย 

"เมื่อก่อนทำแนวกันไฟ ชาวบ้านเขาทำแค่แนวไร่ของตัวเองนะ ไม่ได้กันไปถึงแนวป่า" "พอปลูกกาแฟมันต้องปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านเลยต้องทำแนวกันไฟป้องกันป่า ป้องกันต้นไม้ใหญ่ด้วย" อภิรุณ เล่าถึงประโยชน์ทางอ้อมในการดูและป่าของชาวบ้านหลังจากเริ่มปลูกกาแฟ

ปัญหาไฟป่าในเขตชุมชนบ้านขุนลาวนั้นมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภายนอกแล้วลุกลามเข้ามาในเขตป่าชุมชนของหมู่บ้าน "ถ้าจะจัดการไฟป่าให้ครบวงจรก็ต้องจัดการตั้งแต่นอกเขตป่าที่มีนายทุนถือครองที่ดินอยู่"  ไฟป่าทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดจากในชุมชน มันเกิดมาจากข้างนอกชุมชนซึ่งเกินกว่าที่ชุมชนจะรับมือได้

 

ในแง่การจัดการไฟป่าตามที่ อภิรุณ เสนอคือควรให้มีการเผาไหม้บ้างในบางปี หากเกิดการสะสมไม่เกิดการเผาไหม้เลยจะทำให้เชื้อเพลิงในป่ามีจำนวนมากเกินที่จะควบคุม เพราะเราไม่สามารถห้ามไม่ให้ใบไม้หล่นได้ เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นก็จะรุนแรงอย่างมาก ต้นไม้ใหญ่มีโอกาสล้มตายสูง เพราะสะสมเชื้อเพลิงไว้ใต้ต้นเป็นจำนวนมาก การสูญเสียก็จะมากขึ้น 

จากไร่เสาวรสโล่งเตียนกลายเป็นป่าร่มครึ้มและเต็มไปด้วยต้นกาแฟอาราบิก้าที่มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์คาติมอร์ ทิปปิก้า เบอร์บอน ฯ บางที่ก็แซมด้วยไม้ผลยืนต้น เช่น อะโวคาโด มะขามป้อม ส้มโอ ฯลฯ มีการแบ่งพื้นที่แปลงเล็ก ๆ ไว้ปลูกชาเลือดมังกร เป็นชาสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการทดลองเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนเพื่ออาศัยผึ้งในการผสมเกสรให้พืชในสวน และได้น้ำผึ้งมาเป็นสินค้าในชุมชน

ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ตลาดกาแฟไทยและตลาดกาแฟโลกกำลังเติบโต กาแฟอินทรีย์ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งแง่ของรสชาติและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงกล่าวได้ว่า "กาแฟอินทรีย์รักษาป่า" ของชาวบ้านขุนลาวและชุมชนใกล้เคียงในป่าขุนแจเป็นรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน เพื่อตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความผันผวนต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการสร้างเสริมระบบนิเวศบริการในป่าต้นน้ำแม่ลาวที่ส่งผลต่อภาพรวมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบริการในระดับภูมินิเวศลุ่มน้ำแม่ลาวต่อไป

bottom of page