"ป่าดงหอ" พื้นที่จิตวิญญาณชาวบ้านด่านซ้าย
ภูมิปัญญาด้านนิเวศวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์นิเวศป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน
เครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้แนวคิดทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับ ป่าดงหอหรือป่าดอนหอ ซึ่งเป็นป่าทางวัฒนธรรมของชาวอำเภอด่านซ้ายและประชาชนในพื้นที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมความเชื่อเฉพาะถิ่น
ป่าดงหอมีทุกหมู่บ้าน มีลักษณะเดียวกันกับ ดอนปู่ตา ในภาคอีสาน โดยมีจำนวนพื้นที่แตกต่างกันไปของแต่ละหมู่บ้าน ตั้งแต่ 1 – 30 ไร่ ป่าดงหอเป็นนิเวศป่าที่มีการสืบทอดในการอนุรักษ์จากคนหลายรุ่น โดยมี กวนจ้ำ (กวนคือ ผู้รู้เรื่องในการทำพิธีจ้ำคือร่างทรง)เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาป่าป่าดงหอมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทางพิธีกรรมกับพระธาตุศรีสองรักโดยป่าดงหอเป็นป่าที่มีความเข้มข้นของการบังคับใช้ กฎเกณฑ์ความเชื่อข้อความห้าม(Taboo)ซึ่งชาวบ้านทางภาคอีสานเรียกการ “คะลำ” หรือทางภาคเหนือ เรียกว่า“ขึด”จึงทำให้ระบบนิเวศป่าไม้ที่มีความเข้มงวดในการอนุรักษ์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดีและด้วยระบบนิเวศป่าไม้ที่มีการรักษามาอย่างยาวนานทำให้คงสภาพของระบบนิเวศป่าไม้และพรรณพืชดั้งเดิม ที่มีโครงสร้างป่าหลายระดับชั้นอย่างสมบูรณ์จึงสามารถเรียก ป่าดงหอ ว่าเป็นธนาคารพืชพันธุ์ท้องถิ่นของชุมชน
บทบาทของป่าดงหอในทางนิเวศวิทยา
ในมิติทางเชิงวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่า ป่าดงหอ มีบทบาทสำคัญในทางนิเวศวิทยาหลายประการ ดังนี้
1) ป่าดงหอ เป็นพื้นที่ที่มีรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างสูงในระดับภูมินิเวศ เพราะฉะนั้น ป่าดงหอจึงอุดมไปด้วยสมุนไพร กล้วยไม้ ซึ่งมีคุณค่าทางเภสัชวิทยา การมีต้นไม้ใหญ่ เช่น ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้คันโซ่ ไม้ยาง ไม้กะบาก เป็นต้น ทำให้มีลูกไม้ของพืชพื้นถิ่นที่นำไปสู่การขยายชนิดพันธุ์ในพื้นที่อื่น
2) ป่าดงหอ เป็นพื้นที่ที่ช่วยกระจายพันธุกรรมพืชในท้องถิ่น และลดการสูญเสียพันธุกรรมพืชท้องถิ่น โดยพบว่าถึงแม้ป่าดงหอจะเป็นป่าหย่อมที่มีพื้นที่ป่า จำนวน 1 – 30 ไร่ แต่ก็เป็นแหล่งสำคัญด้านนิเวศ เช่น แหล่งกำเนิด แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในระบบนิเวศ เพราะฉะนั้น ป่าดงหอจึงดำรงบทบาทของการเป็นพื้นที่ชีวิต หรือในทางวิชาการ เรียกว่า Home range ซึ่งส่งผลต่อการรักษาสืบทอดพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ และช่วยในการกระจายพันธุ์ให้เพิ่มปริมาณมากขึ้น (Gene flow) เช่น เป็นที่อยู่อาศัยของ ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ เป็นต้น นอกจากนี้ป่าดงหอยังดำรงบทบาทของการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อและพักพิงของสิ่งมีชีวิต (Corridor) ที่มาอาศัยเพื่อที่จะช่วยให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานและการผสมพันธุ์ของสัตว์ทำให้สามารถเพิ่มทั้งจำนวน ปริมาณของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ได้ ที่สำคัญด้วยความเป็นป่าทางวัฒนธรรมทำให้พืชและสัตว์หลายชนิดมีความปลอดภัยเพราะกฎกติกาทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อค่อนข้างแข็งแรงมาก ทำให้พืชและสัตว์ปลอดภัยจากการไล่ล่าเพราะพื้นที่ได้กลายเป็นพื้นที่อภัยทานไปในตัว
3) ป่าดงหอ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งมักจะมีพรรณพืชจำพวก กล้วยป่า ต้นสะพุง บอน ไผ่ เป็นองค์ประกอบของป่าดงหอ และโครงสร้างของป่าดงหอมักจะมีต้นไม้หลายระดับชั้น คือ ต้นไม้ระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่าง พืชตระกูลหัว และตระกูลเครือ ทำให้มีชั้นเรือนยอดครอบคลุมทุกพื้นที่ของป่า ทำให้ป่าดงหอมีอุณหภูมิ ความชื้นของผิวดินมากกว่าพื้นที่อื่น และด้วยการมีความชื้นสูงทำให้เกิดมี รา ไลเคน เห็ด ตามมามากมาย ตลอดจนเมื่อใบไม้ทับถมกันก็ทำให้เกิดกลุ่มจุลินทรีท้องถิ่นที่ย่อยสลายเศษซากพืชซากสัตว์เกิดปุ๋ยตามธรรมชาติ และเมื่อเกิดฝนตกและน้ำพัดพาลงมาในป่าก็จะชะล้างเอาปุ๋ยและจุลินทรีท้องถิ่นออกไปในนอกพื้นที่ ทำให้ดินรอบนอกป่าดงหอเกิดความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
4) ป่าดงหอ เป็นพื้นที่การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญของชุมชน โดยพบว่า ต้นไม้ใหญ่บางต้นมีอายุหลายร้อยปี ประมาณการเชิงเปรียบเทียบในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ว่าการรักษาต้นไม้ใหญ่เพียงหนึ่งต้นเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้หลายพันต้น
5) ป่าดงหอ เป็นทรัพย์สินของชุมชน หรือ ของหน้าหมู่ ที่ชุมชนมีความเป็นเจ้าของและมีหน้าที่ในการต้องช่วยกันดูแล แต่ไม่สามารถครอบครองในรายบุคคลได้ ป่าดงหอจึงมักถูกนิยามว่าเป็นของ เจ้าบ้าน หรือเจ้านาย ซึ่งหมายถึงผีบรรพบุรุษเป็นเจ้าของ ซึ่งการบริหารจัดการป่าดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาทางนิเวศที่ชุมชนสร้างกุศโลบายและ วางหลักในการจัดการป่าจากภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งป่าดงหอจะมีบทบาทสำคัญในการลดความเปราะบาง จากการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น การเผชิญกับลมพายุ มรสุม ความแห้งแล้งจากการเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ป่าดงหอหลายแห่งเป็นแหล่งน้ำประปาของหมู่บ้าน ป่าดงหอ จึงมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของชุมชนตลอดจนการเป็นแหล่งพันธุกรรมท้องถิ่นของชุมชน
บทบาทของป่าดงหอในทางสังคมวิทยา
ป่าดงหอ หรือ ป่าดอนหอ มีการเลือกที่ตั้งของศาลในชัยภูมิที่เหมาะโดยส่วนใหญ่จะเป็น พื้นที่ป่าดอน ส่วนคำว่า หอ มีความหมาย คือ ศาลเจ้าที่ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีการทำศาล จำนวน 3 – 4 ศาล โดยศาลแต่ละศาลจะตั้งเรียงกันบริเวณป่าดงหอ และมีความหมายแตกต่างกันไป โดยศาลเจ้าที่แต่ละหลังมีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้
ศาลหลังที่ 1 เป็นศาลที่มีขนาดใหญ่ เป็นตัวแทน พระธาตุศรีสองรัก
ศาลหลังที่ 2 เป็นศาลมีขนาดใหญ่รองลงมา เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อแสน
เป็นตัวแทนของ ผีปู่ตาที่มีอำนาจเหนือกว่าผีอื่นๆ
ศาลหลังที่ 3 เป็นศาลที่มีขนาดเล็ก คือ ผีบ้านผีเรือนทั่วไป
ศาลหลังที่ 4 เป็นศาลขนาดเล็กสุด คือ ผีบรรพบุรุษ
บริเวณป่าที่ชาวบ้านตกลงและกันแนวเขตไว้ เรียกรวมกันว่า ป่าดงหอ หรือ ป่าดอนหอ ความเชื่อที่ชาวบ้านเลี้ยงผีปู่ตา มีความเชื่อว่า ผีปู่ตา จะทำหน้าที่ คอยปกปักษ์รักษาคุ้มครองตนเอง ครอบครัว และคนในหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข รวมถึงเป็น การเคารพนบนอบต่อธรรมชาติ บรรพบุรุษ การเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเลี้ยงผีปู่ตา หรือ “การเลี้ยงเจ้าบ้าน” จะจัดกันในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนมิถุนายนของทุกปี แต่ถ้าปีไหนมีเดือน 8 สองหนก็จะเลื่อนไปจัด ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน กรกฎาคม แทนก่อนวันที่จะมีการเลี้ยงผีปู่ตาถือเป็นวันรวมญาติครั้งใหญ่ของคนในหมู่บ้าน คนที่ออกไปทำงานต่างจังหวัด ออกไปเรียนหนังสือ หรือย้ายออกไปแต่งงานที่อื่นจะกลับมาภายในหมู่บ้าน เพื่อทำการแก้บนที่ตนเองได้บนบาลไว้ในปีที่ผ่านมา ทุกๆ ปี
การได้ตำแหน่ง กวนจ้ำ เพื่อทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านจะมีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องจิตวิญญาณ ว่าจะมีผู้ถูกเลือกให้ทำหน้าที่โดยความเชื่อ คือ การถูกเลือกนั้นจะมาจากผีปู่ตาให้เป็นร่างทรง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “กวนจ้ำ” เป็นผู้นำทางพิธีกรรมและจิตวิญญาณที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และในอาณาบริเวณป่าดงหอก่อนจะเข้าไปในป่าดงหอจะต้องได้รับการอนุญาตจากกวนจ้ำแล้วเท่านั้น หากเข้าไปโดยพลการเชื่อว่า จะมีอันเป็นไปในทางไม่ดี เพราะฉะนั้นป่าดงหอจึงเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ ในวันประกอบพิธีกรรมชาวบ้านจะต้องนำเครื่องเซ่นที่เตรียมไว้มารวมกันอยู่ที่ศาลเจ้าป่าดงหอหมดทุกคน ห้ามทำงานในไร่ ออกนอกหมู่บ้าน และห้ามคนนอกหมู่บ้านเข้ามาภายในหมู่บ้านก่อนเวลาบ่ายโมงถ้ามีเหตุธุระจำเป็นจริงก็จะต้องเสียเหล้าไหไก่ตัวเป็นเครื่องเซ่นถึงจะออกและเข้ามา ในหมู่บ้านได้ ความเชื่อ ความศรัทธา ต่อวัฒนธรรมการเลี้ยงผีปู่ตาในป่าดงหอ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ป่าดงหอ คือ สถานที่พำนักของผีปู่ตาหรือชาวบ้านเรียกว่า เจ้าบ้าน ข้อห้ามที่กวนจ้ำห้าม ชาวบ้านรู้กันดีว่าจะไม่ทำผิดไปจากข้อห้าม เพราะจะเกิดโทษภัย เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุ การสูญเสียชีวิต ทั้งกับ ตนเอง ครอบครัว และชุมชน ด้วยข้อห้ามดังกล่าวทำให้ชาวบ้านจะไม่กล้า ตัดไม้ทุกชนิดในบริเวณป่าดงหอ เพราะต้นไม้ทุกชนิดในบริเวณป่าดงหอ นั้นคือสมบัติของ ผีปู่ตา นอกจากนี้ ผีปู่ตา ยังมีคุณูปการในการเกื้อกูลต่อชุมชน โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าการเลี้ยงผีปู่ตา จะส่งผลให้ ผีปู่ตาช่วยปกป้องคุ้มครอง รักษา ดูแล ชุมชน ผีปู่ตายังเกื้อหนุนชุมชนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หมู่บ้านมีความสุข และผีปู่ตาจะช่วยดูแลลูกหลานที่ออกไปทำงานต่างจังหวัด ผีปู่ตา จึงเป็นผีที่ดีสำหรับชาวบ้านที่ให้ความเคารพนับถือ และชุมชน มีความเชื่อมั่นในการกลับมากราบไหว้บูชาและร่วมพิธีกรรมในปีต่อไป