top of page
CHS04617.jpg

CASE STUDIES
เรื่อง : กมลวรรณ เสาร์สุวรรณ
ภาพ : GEF-SGP THAILAND

เครือข่ายต้นน้ำขุนลาว

การตั้งรับปรับตัวของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่า

ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

ผืนป่าต้นน้ำขุนลาวที่กินอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่นับพันตารางกิโลเมตร และด้วยลักษณะพื้นที่ลาดชันและเขาสูง การดูแลและการจัดสร้างแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลและป้องกันไฟป่าในระดับจังหวัดและชุมชนเท่านั้นที่จะทำให้เป้าหมายนี้บรรลุผล 

โครงการโดยสังเขป 

การป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาว โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและพัฒนาอาชีพที่นำไปสู่การป้องกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำแม่ลาว จำนวน 32,814.15 ไร่ ในเขตเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ลาว การพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาวทั้ง 8 หมู่บ้าน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอาชีพจากความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการสรุปบทเรียน ขยายผลภายในชุมชน เครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาว และสร้างเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรชุมชนในเขต พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ลาว 

ที่ตั้ง 

พื้นที่ป่าต้นน้ำลาว จำนวน 8 หมู่บ้าน ครอบคลุม 3 ตำบล ในเขต อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประเทศไทย ได้แก่ 
ต.แม่เจดีย์ใหม่ : บ้านขุนลาว และบ้านห้วยคุณพระ 
ต.แม่เจดีย์ : บ้านปงมะกาด บ้านห้วยน้ำกืน บ้านห้วยทราย และบ้านทุ่งยาว 
ต.ป่างิ้ว : บ้านแม่หาง และบ้านห้วยมะเกลี้ยง 

ผู้ได้รับประโยชน์ 

ประชากรในพื้นที่ป่าต้นน้ำลาว รวม 8 หมู่บ้าน จำนวน 2,212 คน 

ขอบเขตความสนใจ 

การดำเนินงานการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาว จะต้องมีการพัฒนาคนไปพร้อม ๆ กัน ทั้งศักยภาพของสมาชิกในเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การเพาะชำกล้า ขยายพันธุ์พืชเพื่อพัฒนาระบบเกษตรแบบผสมผสาน การจัดการไฟป่าทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน การทำแนวกันไฟ จัดชุดลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่า การดับไฟป่า วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดการไฟป่า กิจกรรมรณรงค์งดการเผาในและนอกชุมชน การปลูกพืชเสริมในพื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ตลอดจนการสร้างอาชีพที่เป็นมิตรกับป่าอย่างการปลูกไม้ผล ไม้ใช้สอย ไว้ในพื้นที่ของตนเอง และการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า 

CHS03425.jpg

เป้าหมายเพื่อการพัฒนายั่งยืนที่เกี่ยวข้อง (SDGs)

กลุ่ม People มิติการพัฒนาคน

01.png
02.png
05.png

กลุ่ม Prosperity มิติเศรษฐกิจ

08.png

กลุ่ม Planet มิติสิ่งแวดล้อม 

06.png
12.png
13.png
15.png

กลุ่ม Partnership มิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา 

17.png

ความเป็นมาและบริบท 

พื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ครอบคลุมบริเวณดอยลังกา ดอยนางแก้ว ดอยมด และดอยผาโง้มของเทือกเขาผีปันน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยสำคัญหลายสาย คือ แม่โถ ขุนลาว น้ำกืน ห้วยคุณพระ แม่หาง และแม่เจดีย์ ที่ไหลลงน้ำลาว แล้วไหลลงสู่ลำน้ำกก และน้ำโขงในที่สุด มีความหลากหลายของป่าหลายชนิดที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่แปรผันตามระดับความสูง ได้แก่ ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่เป็นพื้นที่รองรับน้ำและส่งน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนจำนวนมาก 

การประกอบอาชีพมีการปลูกพืชเมี่ยง ชา กาแฟ และพืชอื่น ๆ ผสมผสาน มีการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า วิธีการคือนำโพรงไม้ (โก๋น) ไปวางเพื่อล่อให้ผึ้งมาอาศัยเพื่อเก็บน้ำผึ้งเป็นวิธีการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าที่ไม่ต้องลงทุนมาก ได้น้ำผึ้งที่ปลอดภัยจากสารเคมี แต่ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของป่าและไม่ถูกรบกวนจากไฟป่า จึงเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ป่าและป้องกันไฟป่าไปพร้อมกับการสร้างรายได้ 

ปัญหาใหญ่ที่ชุมชนได้รับผลกระทบเป็นประจำคือ ไฟป่า ทั้งจากภายในชุมชนเองและไฟป่าที่ลุกลามมาจากภายนอกพื้นที่ ด้วยพื้นที่ลาดชันและเขาสูง การจัดการดูแลป้องกันและควบคุมไฟป่าทำได้ยากลำบากและไม่ทั่วถึง 

เครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาวเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงพัฒนาโครงการที่จะดำเนินงานการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาวเพื่อให้เกิดการจัดการที่เป็นรูปธรรม สามารถส่งผลให้ทรัพยากรป่าต้นน้ำยังคงความอุดมสมบูรณ์ สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการใช้ทรัพยากรและร่วมกันอนุรักษ์ป่า อยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน 

ต้นกำเนิดและโครงสร้าง 

ในการดำเนินงานการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาวให้สัมฤทธิ์ผลและเป็นรูปธรรมนั้นจะต้องมีกระบวนการทำงานหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมทำความเข้าใจในเรื่องการจัดการไฟป่าภายในเครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาวให้ตรงกัน แล้วมีการประสานงานกันระหว่างชุมชนเอง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภายนอก ทั้งในพื้นที่เขต อ.เวียงป่าเป้า และจังหวัดใกล้เคียงอย่างลำปางและเชียงใหม่ 

การทำแนวกันไฟ ด้วยพื้นที่ที่อยู่ต่อเนื่องกันทั้ง 8 หมู่บ้าน จึงทำแนวกันไฟต่อเนื่องกันไปเป็นช่วง ๆ ตามขอบเขตพื้นที่หมู่บ้านของตน รวมระยะทางทั้งหมด 178.16 กิโลเมตร โดยมีการร่วมมือกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย การจัดชุดลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่าร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เช่น กรมการปกครอง สถานีควบคุมไฟป่าขุนแจ และอุทยานแห่งชาติขุนแจ มีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการไฟป่าทั้งเครื่องเป่าลมและเครื่องตัดหญ้าไว้ประจำหมู่บ้าน รวมถึงการสนับสนุนกองทุนฉุกเฉินกรณีบาดเจ็บจากการดับไฟป่า และนอกจากนี้ยังมีการจัดทำป้ายรณรงค์งดการเผาป่า พืชผลทางการเกษตรและวัชพืชต่าง ๆ ทั้งในและนอกชุมชน 

สิ่งที่ดำเนินการตามมาหลังจากการจัดการไฟป่าคือ การทำให้พื้นที่ป่ามีความหลากหลายทางอาหารมากขึ้นโดยการนำกล้าไม้พืชผักป่าเข้าไปปลูกเสริมในป่าให้เป็น “ป่ากินได้” เช่น ต้นหวาย ลิงลาว ดอกต้าง พริกไทย 

ด้านความเชื่อที่ผูกพันกับคนที่อยู่ในป่าต้นน้ำนั้นมี การเลี้ยงผีขุนน้ำตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนในชุมชน หน่วยงาน องค์กร และชุมชนข้างเคียงได้มีกิจกรรมร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือข่ายได้อีกด้วย 

นอกจากนี้เครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาวยังได้จัดให้มีการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น  การเพาะชำกล้าไม้ผลเพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง พืชเศรษฐกิจอย่างอะโวคาโด และกล้าไม้ป่า ไม้ใช้สอย โดยมีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยจัดการต้นน้ำขุนลาว และยังสนับสนุนให้มีกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงป่าที่ปัจจุบันสามารถผลิตน้ำผึ้งที่มีประสิทธิภาพและปริมาณมากขึ้นจากป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นล้วนต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ชุมชนมี เพิ่มพูนด้วยการศึกษาดูงาน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างชุมชนเพื่อให้การดำเนินงานการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาวบรรลุผลสำเร็จ 

"มีผืนดินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีป่ามีน้ำด้วย คนจึงจะอยู่ได้"

เสถียร ชัยนาม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยน้ำกืน 

CHS04818.jpg

ปัญหาในพื้นที่ 

ไฟป่าบนเขาสูง 

ด้วยพื้นที่ที่มีความลาดชันและสูงชันทำให้การจัดการไฟป่าเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องใช้แรงงานและระยะเวลามากในการทำงาน ซึ่งปัญหาภัยคุกคามจากไฟป่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญกับพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาว สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรป่าไม้แหล่งต้นน้ำสำคัญของลำน้ำแม่ลาว แหล่งพืชพรรณอาหารจากป่าของชุมชน รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เลียงผา เก้ง หมูป่า ชะมด เป็นต้น 

ชุมชนป่าต้นน้ำขุนลาวส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกเมี่ยง ชา กาแฟ เป็นหลัก ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ทนไฟ อีกทั้งการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าซึ่งหากมีไฟป่าเกิดขึ้นก็จะทำให้โพรงไม้ที่ใช้ล่อผึ้งได้รับความเสียหายและผึ้งจะย้ายไปพื้นที่อื่น นอกจากชุมชนจะต้องป้องกันไฟป่าที่ข้ามแนวเขตมาจากจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดที่ต้องปลูกในพื้นที่โล่ง มีการใช้สารเคมีและไหลลงสู่แหล่งน้ำ การเผาวัชพืชและเศษตอซังหลังจากเก็บเกี่ยวก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่า ปัญหาฝุ่นควัน อีกทั้งยังทำให้พื้นที่สีเขียวในระบบเกษตรแบบอนุรักษ์ลดลง เกิดการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดิน 

ที่ผ่านมาทางชุมชนได้เพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการทำแนวกันไฟบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นประจำทุกปี เนื่องจากขาดการประสานงานและดำเนินงานร่วมกันระหว่างชุมชนอย่างการจัดทำแผนและมาตรการการจัดการไฟป่าอย่างจริงจัง จึงมีการรวมตัวกันจัดตั้งเครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาว ทำกิจกรรมทำแนวกันไฟตามสันปันน้ำขุนลาวที่เป็นขอบเขตพื้นที่หมู่บ้าน จัดชุดเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าและร่วมกันดับไฟหากเกิดไฟป่า แต่ด้วยพื้นที่ที่สูงชันดังกล่าวจึงทำให้การทำแนวกันไฟและการขึ้นไปดับไฟป่าเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งงบประมาณที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานเนื่องจากต้องใช้ทั้งกำลังคน อุปกรณ์ และเวลาเป็นอย่างมาก จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ได้ดีเท่าที่ควร 

CHS04302.jpg

การป้องกันและจัดการไฟป่าที่ได้ผลเป็นรูปธรรม 

ความร่วมมือของเครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาว 

ปี พ.ศ.2550 มีการรวมตัวของ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านขุนลาว บ้านห้วยคุณพระ บ้านปางมะกาด และบ้านห้วยน้ำกืน เกิดเป็น “เครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาว” ซึ่งเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือการทำงาน (Partnership) ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ด้วยความเป็นชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาวที่ตระหนักดีว่าจะส่งผลกระทบไปสู่ชุมชนกลางน้ำ และปลายน้ำ เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของทั้งน้ำดีและน้ำเสีย อาชีพหลักของชุมชนคือการทำเมี่ยง ปลูกชา ปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ทนไฟต้องป้องกันไม่ให้โดนไฟเผา เครือข่ายฯ จึงต้องมีการวางแผนการจัดการไฟป่า และทำกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำร่วมกัน  

กิจกรรมที่ทำร่วมกันในทุกปี คือการทำแนวกันไฟรอบพื้นที่หมู่บ้านของตน พร้อมกับมีการตั้งทีมงานลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่าและระดมพลังร่วมกันดับไฟหากมีไฟป่าเกิดขึ้น การทำฝาย การทำระบบน้ำประปาภูเขา การบวชป่า การเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นการทำพิธีสังเวยผีฟ้าเทวดาอารักษ์ที่คอยสอดส่องดูแลเพื่อปกป้องรักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำ จนทำให้ป่าที่มีแนวโน้มจะเสื่อมโทรม สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ที่สำคัญก็คือชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่เป็นเครือข่าย มีความตระหนักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ ตัว คอยเฝ้าระวังไม่ให้ใครมาทำลาย ต่อมาได้มีหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดสันปันน้ำขุนลาวอีก 4 หมู่บ้าน เข้ามาร่วมทำแนวกันไฟจนสุดสันปันน้ำที่ติดกับจังหวัดเชียงใหม่ และตามแนวสันปันน้ำด้านทิศเหนือ ทำให้เครือข่ายฯ ในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบล ของ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 

CHS04246.jpg

กาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาว 

ก่อนจะมาเป็น "กาแฟอินทรีย์รักษาป่า" บ้านขุนลาวแต่เดิมทำเกษตรกรรมประเภทการปลูกชา ผลิตชาหมักหรือเมี่ยง โดยเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี หลังจากนั้นจะว่างงาน หลายคนในหมู่บ้านจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวเสริมมากขึ้น เช่น ข้าวโพด และเสาวรส แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการเพราะเป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมี ต้องเปิดป่าให้เป็นพื้นที่โล่ง จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งป่าต้นน้ำ แหล่งน้ำ ไปจนถึงชาวบ้านที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำ และทำให้มีปัญหากับหน่วยงานรัฐโดยตรงเนื่องจากเป็นการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนแจ แม้ว่าชาวบ้านจะอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศจัดตั้งอุทยานก็ตาม 

ต่อมา ชุมชนบ้านขุนลาว อุทยานฯ และโครงการหลวง ได้มีการหารือและสำรวจพื้นที่ร่วมกันจนได้เริ่มต้นการปลูกกาแฟซึ่งเป็นพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่าต้นน้ำ ขนาดต้นที่ไม่สูงนักสามารถปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องถางพื้นที่เปิดป่าเพื่อเพาะปลูกใหม่ และไม่ต้องลงทุนมากเพียงดูแลเรื่องหญ้าและตัดแต่งกิ่งเท่านั้น ประกอบกับกาแฟเป็นพืชที่เปราะบาง ไม่ทนต่อสารเคมีใด ๆ ผลผลิตมีราคาสูงและมีตลาดรองรับ แบรนด์มีวนา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าของบ้านขุนลาวเอง จึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟอินทรีย์กันมากขึ้นพร้อม ๆ กับการรักษาป่า อันเป็นแหล่งทำกินด้วย 

ในปี พ.ศ. 2558 กลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาวได้ทำ MOU กับกรมอุทยานฯ ว่าจะไม่ตัดไม้ทำลายป่า ทางอุทยานฯ จึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการปลูกกาแฟได้ ทำให้กลุ่มฯ สามารถขอมาตรฐานต่าง ๆ ได้ 

กาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาวถือเป็นกาแฟคุณภาพดีอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ได้รับมาตรฐาน PGS Organic มาตรฐาน มกท.จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) มาตรฐานในการส่งออกเพื่อนำเข้าประเทศกลุ่ม EU และ USDA Organic ซึ่งกว่าจะผ่านมาตรฐานเหล่านี้ได้จะต้องมีการผลิตที่มาตรฐาน ตรวจสอบได้ ปลอดสารเคมีในทุกกระบวนการ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าส่งกาแฟเข้าประกวดด้านคุณภาพระดับประเทศ และได้รับรางวัลชนะเลิศมา 2 ปีซ้อน ในปี พ.ศ. 2556 – 2557 และได้รางวัลอันดับที่ 16 ของประเทศในการประกวดกาแฟพิเศษ และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ระดับโลกต่อไป 

ทางกลุ่มฯ ยังส่งเสริมให้สมาชิกปลูกพืชชนิดอื่น ๆ แซมไว้ในไร่กาแฟ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าสมาชิกวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาว ต้องปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ 50 ต้น ต่อพื้นที่ปลูกกาแฟ 1 ไร่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของป่า ต่อไปในอนาคตอีก 5 - 10 ปี ก็จะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันมีการขยายผลส่งเสริมการปลูกกาแฟในรูปแบบโมเดลเดียวกันไปอีกหลายหมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย รวมเครือข่ายทั้งหมด 7 หมู่บ้าน คือ โซน อ.เวียงป่าเป้า บ้านขุนลาว บ้านห้วยคุณพระ บ้านห้วยมะเกี้ยง-ปางไคร้ อ.แม่สรวย บ้านดอยช้าง บ้านใหม่พัฒนา บ้านผาแดงหลวง และ อ.เมือง บ้านปางขอน  กลุ่มฯ สามารถผลิตกาแฟอินทรีย์ได้ถึง 40 ตันกะลา ต่อปี และร่วมกันดูแลรักษาผืนป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนของชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำได้กว่า 1,200 ไร่ 

รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรบ้านขุนลาวผู้ปลูกชาและกาแฟ ประมาณ 200,000 – 250,000 บาท ต่อปี คือที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายในการตากแห้งหรืออบแห้งโดยใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งแต่ละครัวเรือนจะมีรายจ่ายต่อการผลิตดังกล่าวที่เดือนละประมาณ 2,500 – 3,000 บาทต่อเดือน แต่ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการช่วยเหลือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยการสนับสนุนโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าในการอบชาและกาแฟได้ครัวเรือนละกว่า 400 บาท ต่อเดือน  

ป่าต้นน้ำขุนลาวไม่เพียงมอบผลผลิตอย่างชาหรือกาแฟเพื่อเป็นรายได้เท่านั้น ป่ายังมี ”ไผ่หก” พืชพื้นถิ่นที่ชาวบ้านใช้นำไปเหลาเป็นตอกมัดเมี่ยงเป็นรายได้เสริมให้กับกลุ่มสตรีและผู้สูงอายุ โดยมีการรับซื้อในราคา 300 – 400 บาท ต่อตอก 1,000 ชิ้น เป็นรายได้เสริมราว 3,000 – 4,000 บาท ต่อเดือน 

นับว่านอกจากกาแฟอินทรีย์รักษาป่าจะช่วยเป็นตัวลดความขัดแย้งเดิมในการใช้พื้นที่ทำกินระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีส่วนช่วยขจัดความยากจนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวบ้าน และมีกำลังใจในการร่วมกันรักษาป่าต่อไปอีกด้วย 

"สิ่งที่เราต้องการคือการกระชับมิตร เพราะก่อนหน้านี้เราแทบไม่รู้จักกันเลย การทำ MOU กับพื้นที่ใกล้เคียง 3 จังหวัด

5 อำเภอ และอีก 7 หมู่บ้านจึงเป็นการสร้างภาคีอย่างหนึ่ง"

 

อภิรุณ คำปิ่นคำ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านขุนลาว 

ห้วยน้ำกืน ความยั่งยืนวิถีชาและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

บ้านห้วยน้ำกืนเป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นน้ำลาวที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ เป็นชุมชนต้นแบบในการอยู่ร่วมกับป่าอุทยานที่มีพื้นที่ครอบคลุมผืนป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง 

"น้ำกืน" เป็นภาษาคำเมืองหมายความว่า ทะลัก ผืนดินที่ขุดลงไปไม่ลึกเท่าไหร่ก็เจอน้ำผุดทะลักขึ้นมา จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านห้วยน้ำกืนที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำแห่งนี้ 

ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเมี่ยง ชา และกาแฟ ที่โดดเด่นที่สุดคือ ชาอัสสัม เป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถเก็บมาผลิตชาได้เกือบทั้งต้นโดยมีกรรมวิธีที่แตกต่างกันออกไปเป็น ชาขาว ชาแดง ชาดำ ชาเขียว เป็นต้น ที่หมู่บ้านมีทั้งโรงอบชาที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการหลวงและที่เป็นของเอกชนเอง ทำให้ชุมชนสามารถผลิตชาได้เองจนครบกระบวนการออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชาที่ขึ้นชื่อของบ้านห้วยน้ำกืน สร้างรายได้ให้ชุมชนหลักล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันชาอัสสัมเกรดเอ ใบสด ราคากิโลกรัมละ 700 - 750 บาท แบบแห้งกิโลกรัมละ 3,000 – 3,500 บาท ในส่วนของค่าจ้างเก็บใบชาอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท และยังส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากค่าจ้างคัดแยกใบชากิโลกรัมละ 10 บาท นอกเหนือไปจากงานจักสานไม้ไผ่ที่ได้จากป่า “ทอ” ใส่เมี่ยงอันละ 12 บาท “ตะก๋วย” เก็บใบชา กาแฟ อันละ 150 บาท “รับจ้างแยกใบชา เขาให้โลละสิบบาท เป็นรายได้แม่เฒ่า” แม่อุ๊ย วินิด แสงติ๊บ 

นอกจากชาที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับบ้านห้วยน้ำกืนแล้ว ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงได้เปรียบเรื่องอากาศและทิวทัศน์ที่สวยงาม ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างอุทยานแห่งชาติขุนแจ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ได้พัฒนาศักยภาพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โฮมสเตย์ เรียนรู้วิถีการทำชา ชิมอาหารจากใบชา สร้างรายได้ให้หมู่บ้านมากกว่า 500,000 บาท ต่อหนึ่งฤดูกาลท่องเที่ยว 

ชาวบ้านห้วยน้ำกืนตระหนักดีถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ เนื่องจากวิถีชีวิตที่อยู่กับป่ากินกับป่ามาตลอดตั้งแต่ก่อนการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขุนแจ เมื่อมีโครงการจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดูแลและจัดการป้องกันควบคุมไฟป่า จึงทำให้ชาวบ้านยิ่งเกิดความรู้สึกหวงแหนป่าและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งอาสาสมัครการลาดตระเวน การทำแนวกันไฟ การปลูกพืชไม้ผล ไม้ใช้สอยต่าง ๆ แซมไว้ในแปลงเกษตรของตนเอง และยังวางโก๋นผึ้ง (โพรงผึ้ง) ไว้ตามแนวป่าเพื่อล่อให้ผึ้งเข้ามาทำรัง เก็บน้ำผึ้งป่าคุณภาพดีไว้ขายเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่ง 

แมงอีนูน แม้จะเป็นแมลงศัตรูพืชที่มักอยู่ตามต้นมะขามเทศ มีมากช่วงต้นฤดูฝน แต่ก็สามารถขายเป็นอีกหนึ่งรายได้เสริมของครอบครัว ทำเงินได้ 300 -400 บาท ต่อกิโลกรัม ได้ประโยชน์ทั้งการกำจัดแมลงจากแปลงเกษตรไปในตัว 

นับว่าบ้านห้วยน้ำกืนเองมีการใช้ทรัพยากรจากป่าต้นน้ำได้อย่างคุ้มค่าทั้งรายได้ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ป่าต้นน้ำที่ทั้งสร้างอากาศดี น้ำสะอาด สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และเพิ่มพูนพืชพรรณในป่าให้หลากหลายและมีความยั่งยืนต่อไป 

"เรามีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดี

ที่มันไม่สามารถสร้างได้

สิ่งก่อสร้างยังสร้างได้

แต่ป่าสร้างไม่ได้"  

เสถียร ชัยนาม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยน้ำกืน 

CHS04957.jpg

ผลกระทบเชิงนโยบาย 

ผลกระทบจากนโยบายของชาติ 

การพัฒนาระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตที่ยั่งยืนในพื้นที่ต้นน้ำและลุ่มน้ำแม่ลาว การปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรจากพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องมีการแผ้วถางป่าให้เป็นที่โล่งเพื่อเพาะปลูก เปลี่ยนมาเป็นพืชที่สามารถปลูกแซมไปกับป่าได้ ต้องการแสงแดดน้อยอย่างกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ก็ช่วยลดการเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร ฝุ่นควันลดลง และเมื่อเป็นเกษตรอินทรีย์คือไม่ใช้สารเคมีก็จะปลอดภัยกับผู้บริโภค 

ป่าที่สมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางอาชีพให้กับคนต้นน้ำได้อย่างการเลี้ยงผึ้งโพรงที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของป่า น้ำผึ้งที่ได้มีคุณภาพ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก เมื่อคุณภาพชีวิตของคนดี การจะปกป้องดูแลป่าต้นน้ำก็ไม่ใช่เรื่องเกินกำลังอย่างที่ผ่านมา 

การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จัดการป้องกัน ฟื้นฟู ดูแลและรักษาทรัพยากรให้คงความหลากหลาย เพิ่มขีดความสามารถของนิเวศบริการ โดยการจัดการไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ การปลูกป่าและพืชผักป่าเสริมในพื้นที่ป่ากินได้ รวมทั้งการประสานกับชุมชน หน่วยงาน องค์กรภายนอกพื้นที่ (เขตเชียงใหม่ และลำปาง) จัดทำแผนหรือมาตรการป้องกันจัดการไฟป่าให้เป็นรูปธรรมชัดเจนซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าที่เป็นปัญหาหลักของพื้นที่ได้ 

เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าเพิ่มขึ้น ป่าต้นน้ำจะช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้นและเป็นแหล่งน้ำให้คนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้บริโภคและใช้สอย ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง สัตว์ป่า และความหลากหลายของพืชต่าง ๆ จะดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ 

ยุทธศาสตร์ชาติที่หน่วยงานในระดับต่าง ๆ จนถึงระดับพื้นที่ต่างนำมากำหนดเป็นแนวทางการทำงานที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีเป้าหมายและแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับที่เครือข่ายฯ ดำเนินการอยู่ให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิต ประกอบอาชีพที่ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศต้นน้ำ ความสำเร็จจากการทำงานจะได้รับการส่งเสริมและดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งจากชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ 

การมีส่วนร่วมในวาระระดับโลก 

โครงการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำขุนลาว มีความสอดคล้องกับกระบวนการที่จะเป็นส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หลายประการ ได้แก่ ขจัดความยากจน (เป้าหมายที่ 1) ขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร (เป้าหมายที่ 2) สร้างความเท่าเทียมทางเพศสตรีและเด็กหญิงทุกคน (เป้าหมายที่ 5) จัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพร้อมใช้สำหรับทุกคน (เป้าหมายที่ 6) ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 8) สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12) ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (เป้าหมายที่ 13) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก (เป้าหมายที่ 15) และการสร้างความร่วมมือสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17) 

CHS04232.jpg

การพัฒนาต่อยอดและความยั่งยืน 

การทำซ้ำ 

การจัดการและการควบคุมไฟป่าของเครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาวที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อมกันในหลายส่วน ที่เห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนคือการปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรมาเป็นแบบผสมผสานที่เป็นมิตรกับป่าและสิ่งแวดล้อม โดยหันมาปลูกกาแฟอย่างเป็นระบบ กาแฟอินทรีย์ที่ปลูกใต้ต้นไม้ ไม่ต้องตัดต้นไม้หรือแผ้วถางที่ให้โล่งเหมือนพืชเชิงเดี่ยว ไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตดี ด้วยการจัดการที่เข้มงวดและต่อเนื่องในการที่จะเป็นกาแฟอินทรีย์อย่างแท้จริง จนทำให้กาแฟบ้านขุนลาวได้รับรางวัลการันตีคุณภาพที่ดีที่สุดของประเทศ 2 ปีซ้อน ในปี พ.ศ. 2556 และ 2557 และปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายกาแฟรักษาป่าไปที่โซนต้นน้ำแม่สรวย 3 หมู่บ้าน และโซนต้นน้ำขุนกรณ์อีก 1 หมู่บ้าน 

บ้านห้วยน้ำกืนเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านต้นแบบในด้านการดูแลรักษาระบบนิเวศป่าและน้ำเป็นอย่างดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนสามารถพัฒนาไปเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีการร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติขุนแจในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวบ้าน การปลูกชาจนถึงกระบวนการผลิตชาส่งขาย เฉพาะการท่องเที่ยวรูปแบบนี้สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนมากถึง 500,000 บาทต่อปี 

การพัฒนาต่อยอด 

การบริหารจัดการที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม เป็นการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในเครือข่ายฯ โดยผ่านการอบรมศึกษาดูงานให้คณะทำงานระดับต่าง ๆ ของชุมชนและเครือข่ายฯ มีการกำหนดแผนการพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันจัดการไฟป่าในระดับหมู่บ้าน ระดับเครือข่าย และชุมชนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนด ออกแบบตามความต้องการ และสะท้อนปัญหาจากสมาชิกในชุมชนในการทำงานเครือข่ายลุ่มน้ำขุนลาวใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มในชุมชน ตลอดจนถึงการทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ เช่น โรงเรียนบ้านขุนลาว มีการบรรจุหลักสูตร “กาแฟ” ไว้ในวิชาเรียนครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่การปลูก การคัดเมล็ดพันธุ์ดีเพื่อเพาะขยายพันธุ์ การชำลงถุง ปลูก เก็บ คั่ว หรือบ้านห้วยน้ำกืนที่มีการตั้งกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าก็นับว่าเป็นการต่อยอดและสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาต่อไป 

ความยั่งยืน 

การจัดการป้องกันไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดแนวเขตสันปันน้ำของต้นน้ำขุนลาวด้วยแนวทางการทำงานร่วมกันของเครือข่ายชุมชนต้นน้ำขุนลาว และเครือข่ายชุมชนที่มีพื้นที่เกี่ยวข้องกันอย่างจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ จะช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่าได้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งประสบการณ์ บทเรียนจากการทำงานจะสามารถเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นปัญหาของทุกพื้นที่ในภาคเหนือ ตลอดจนความร่วมมือของสมาชิกที่จะช่วยกันพัฒนาและยกระดับผลผลิตท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ มีมูลค่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าต้นนำไว้ได้จะช่วยให้กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านอาชีพและการอนุรักษ์ยังคงได้รับการสานต่อโดยคนในพื้นที่เองที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง และยังเป็นโมเดลตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ที่มีลักษณะพื้นที่และสภาพปัญหาที่คล้ายคลึงกันได้นำไปปรับใช้กับชุมชนของตนได้อีกด้วย

CHS03440.jpg
bottom of page