Case Studies
กรณีศึกษา ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง
"เกษตรกรรมผสมผสานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ สู่ความยั่งยืนของวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม"
Scroll Down
"เกษตรกรรมผสมผสานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ สู่ความยั่งยืนของวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม"
ผู้เขียน : กมลวรรณ เสาร์สุวรรณ / ชลิต สภาภักดิ์
ภาพถ่าย : ชลิต สภาภักดิ์
วิธีการแก้ปัญหาเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรในการทำเกษตรเพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืน เป็นหนึ่งในหลายกรณีศึกษาที่วิเคราะห์ปัญหาของชุมชนเกษตรกรรมบนที่สูง นำเอาวิธีการแก้ปัญหาโดยเชื่อมโยงกับพื้นฐานทรัพยากรและองค์ความรู้ของชุมชนผสานกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยจัดการ ผนวกกับการร่วมมือของคนในชุมชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหา พัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน
กรณีศึกษานี้ได้อธิบายถึงที่มาของปัญหา สถานการณ์ปัจจุบัน ผลกระทบ และการดำเนินงานต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อเป้าหมายในการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่กรณีศึกษาอื่นได้นำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการโดยสังเขป
จากปัญหาการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ทำลายระบบนิเวศโดยรวม ทรัพยากรธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในชุมชนตามมา การจัดการที่ส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานได้ถูกนำมาช่วยแก้ปัญหาการทำมาหากิน รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่าลุ่มน้ำหมันและลุ่มน้ำพุง อีกทั้งยังส่งเสริม ผลักดันให้ผู้หญิงได้เข้ามาร่วมในกระบวนการจัดการมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์รวมเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ตั้ง
ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ประเทศไทย
ผู้ได้รับประโยชน์
ชาวบ้าน 4,765 คน ในตำบลด่านซ้าย ตำบลกกสะทอน ตำบลบ้านโป่ง
ขอบเขตความสนใจ
การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า การเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายผู้หญิงและครอบครัวเพื่อการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพื้นที่ภูมินิเวศลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง
เป้าหมายเพื่อการพัฒนายั่งยืนที่เกี่ยวข้อง (SDGs)
เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน
เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ
เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความเป็นมาและบริบท
เทือกเขาเพชรบูรณ์ แหล่งทรัพยากรสำคัญที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำสากลอย่างแม่น้ำโขง และด้วยสภาพพื้นที่ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่เป็นลักษณะภูเขาสูงสลับซับซ้อนครอบคลุมอยู่รอบด้าน มีลุ่มน้ำสายสำคัญคือ ลุ่มน้ำหมันที่ไหลลงสู่แม่น้ำเหืองและไหลลงสู่แม่น้ำโขง ลุ่มน้ำพุงไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก บริเวณที่ราบเชิงเขาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกพืช ซึ่งเขตที่ราบลุ่มในการทำเกษตรกรรมมีพื้นที่น้อยมาก ทำให้เกษตรกรต้องปลูกพืชบนที่สูงเป็นหลัก ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมแบบเชิงเดี่ยวที่เน้นการปลูกพืชเพื่อจำหน่าย เช่น ข้าวโพด ส้มโชกุน ถั่วลันเตา ซึ่งพืชเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย
การบุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำเพื่อให้ได้พื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้น การเตรียมดินที่ต้องไถหน้าดินและพรวนดินโดยเครื่องจักรขนาดใหญ่ส่งผลให้หน้าดินเสื่อมสภาพ เมื่อฝนตกจึงเกิดการชะล้างหินดินทรายบนภูเขาทำให้สูญเสียหน้าดินจำนวนมาก เมื่อพื้นที่การเพาะปลูกกว้างขึ้น การกระจายตัวของวัชพืชที่รุนแรงและชนิดพันธุ์ของวัชพืชก็ทำให้กำจัดได้ยากขึ้นตามไปด้วย เกษตรกรจึงมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชหลายชนิดโดยใช้ในปริมาณที่มากและเข้มข้นขึ้น เพื่อเร่งการผลิตให้เร็วขึ้น ได้จำนวนผลผลิตที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งป่าและแม่น้ำ รวมทั้งปัญหาสุขภาพของชาวบ้านอีกด้วย
อีกทั้งลำน้ำหมันและลำน้ำพุงที่ตื้นเขินจากตะกอนดินทรายที่ไหลลงมาจากการทำเกษตรบนที่สูงดังกล่าว ทำให้ร่องน้ำหมันที่เคยเป็นร่องน้ำลึก มีวังปลา มีปลาหลากหลายพันธุ์ชุกชุม รวมถึงพันธุ์ปลาท้องถิ่นอาศัยอยู่ จากการสำรวจสถานภาพพันธุ์ปลาในพื้นที่ลุ่มน้ำหมันพบว่า มีชนิดพันธุ์ปลาท้องถิ่นซึ่งมีถิ่นอาศัยในภูเขา มากกว่า 28 ชนิดพันธุ์ เช่น ปลาพั่น ปลาบู่ ปลาปรก ปลากรกหางแดง ปลาอีเตาะ ปลาแข้ ปลากั้ง ปลาจาด เป็นต้น และยังมีที่สำรวจไม่พบอีกจำนวนมาก วังปลาที่เคยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน เมื่อลำน้ำหมันตื้นเขิน วังปลาก็หายไป สารเคมีที่ตกค้างจากการทำเกษตรยังไหลปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำ เป็นภัยคุกคามที่รุนแรงของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำในลุ่มน้ำหมันและลุ่มน้ำพุง กล่าวได้ว่าการทำเกษตรบนที่สูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศชุมชนลุ่มน้ำหมันและลุ่มน้ำพุงเปลี่ยนไป
-การทำเกษตรบนที่สูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศชุมชนลุ่มน้ำหมันและลุ่มน้ำพุงเปลี่ยนไป-
ต้นกำเนิดและโครงสร้าง
เป้าหมายหลักในการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง และระบบนิเวศลุ่มน้ำหมัน ได้แก่
-
เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และเสริมประสิทธิภาพในระบบการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง
-
เพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองของเกษตรกรและสร้างพื้นที่ต้นแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตอาหารปลอดภัยของเกษตรกร สร้างแหล่งอาหารของชุมชนและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง
-
เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือขององค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน
-
เพื่อสรรหาทางเลือกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยระบบเกษตรกรรมเอื้อต่อการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า และสอดคล้องต่อระบบนิเวศของพื้นที่ต้นน้ำ
-
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ รูปธรรมทางเลือก และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและครอบครัว ในการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถจัดการความรู้สู่การรณรงค์เผยแพร่และสื่อสารสาธารณะ
เครือข่ายมีการดำเนินงานในหลากหลายกระบวนการดังต่อไปนี้
-
อบรมแนวทางการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเมินระบบนิเวศบริการของแปลงเกษตรกรรม และการวางแผนฟื้นฟูนิเวศเกษตรกรรม เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองโดยนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแปลงเกษตรของตนเอง
-
การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การจัดเก็บและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านระหว่างชุมชน เพื่อให้เกิดการรวบรวม เก็บรักษาเพื่อนำมาขยายพันธุ์และอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันภายในเครือข่าย
-
การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชน
-
สำรวจข้อมูลแปลงเกษตร แปลงที่ดินทำกิน และขอบเขตป่าชุมชนให้มีความชัดเจน กำหนดระเบียบ กติกาป่าชุมชน รวมถึงกำหนดแผนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
-
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและทำลายระบบนิเวศ เพื่อให้ลดต้นทุนการผลิต และมีพืชผักอาหารปลอดภัยบริโภคในครัวเรือนและชุมชน
-
การทำแปลงเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและชนิดของพันธุ์พืช เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่พื้นที่ทำกินโดยรอบป่าชุมชน ช่วยในการอนุรักษ์ฟื้นฟูดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินที่จะไหลลงสู่แหล่งน้ำ
-
ศึกษาเรียนรู้กระบวนการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า และปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-
ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นการจัดการน้ำด้วยพัด (ระหัดวิดน้ำ) อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูลำห้วยน้ำหมัน และถ่ายทอดให้แก่สมาชิกในชุมชน เด็ก เยาวชน และคนภายนอกได้เรียนรู้และสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป
-
การจัดการระบบน้ำประปาภูเขาบนพื้นที่สูง ผลิตน้ำประปาภูเขาดื่มได้ และเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยมีกำลังการผลิตได้ถึง 3,600 ลิตร/ชั่วโมง (1 วินาที/ลิตร) และมีระบบกรองน้ำให้สะอาดจากเศษรากไม้ที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำประปา
-
ส่งเสริมจัดทำแปลงเพาะขยายพันธุ์ไม้ผลและกล้าไม้ท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางการรวบรวมพันธุ์พืชท้องถิ่น ขยายพันธุ์ และแจกจ่ายสมาชิกนำไปปลูกเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง
-
ปลูกไม้ผลทำให้เกิดพื้นที่ทางอาหาร สร้างรายได้ และปลูกไม้ไผ่เพื่อลดผลกระทบจากการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รวมถึงการแปรรูปไม้ไผ่เพื่อสร้างรายได้จากฐานทรัพยากรป่า
-
สนับสนุนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เกิดการเพิ่มมูลค่าและการถนอมอาหาร เพื่อเพิ่มการสร้างรายได้ชุมชน
-
การอบรมบทบาทหญิงชายกับการประเมินความเสี่ยง ความเปราะบาง และวางแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น
-
จัดทำแผนบูรณาการความร่วมมือขององค์กรในท้องถิ่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่าลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุง อย่างยั่งยืน
-
จัดทำสื่อเผยแพร่องค์ความรู้ กระบวนการฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำหมันด้วยเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนแก่สมาชิกในชุมชนและขยายผลสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่น ๆ
ในการดำเนินงานโครงการ เครือข่ายฯ มีการบูรณาการความร่วมมือและระดมทรัพยากรขององค์กรภายในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน :
-
เจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลด่านซ้าย องค์การบริหารส่วนตำบลกกสะทอน องค์การบริหารส่วนตำบลโป่ง สำนักงานเกษตรอำเภอด่านซ้าย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเลย สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) สนับสนุนการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกร องค์ความรู้การเกษตรผสมผสาน เอกสารวิชาการเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สนับสนุนด้านวิชาการ หน่วยป้องกันรักษาป่า ลย 10 (โคกงาม) สนับสนุนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการจัดการน้ำประปาภูเขา เนื่องจากจุดเชื่อมต่อแหล่งต้นน้ำอยู่ในเขตป่าชุมชนและเขตป่าสงวนแห่งชาติ วัดเนรมิตวิปัสสนา ร่วมสนับสนุนพันธุ์พืชท้องถิ่นให้เครือข่ายชุมชน โรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา ร่วมกิจกรรมเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาการจัดการน้ำและจัดทำข้อมูลแปลงเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่โครงการ
-
เครือข่ายชุมชน กลุ่มนักวิจัยไทยบ้านหัวนายูง โดยมีการร่วมมือกันศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน รูปแบบการจัดการป่าชุมชน เชื่อมโยงข้อมูลพื้นที่ กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ประสานความร่วมมือผลักดันแผนการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นแผนงานหลักในการสนับสนุนเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพให้แก่สมาชิกในชุมชน กลุ่มปลูกผักปลอดสารเคมี เกษตรอินทรีย์ด่านซ้าย ร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรและอาหารปลอดภัย
-
กลุ่มแกนนำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ กลุ่มเยาวชน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานโดยร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา ประเมินขีดความสามารถในการปรับตัว ร่วมคิดวางแผนโครงการให้สอดคล้องกับปัญหาและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ของภูมินิเวศเทือกเขาเพชรบูรณ์ รวมไปถึงการวางกลไกของคณะทำงานที่มีองค์ประกอบของชุมชนทุกภาคส่วนโดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย โครงการที่มุ่งเน้นบทบาทสตรีจึงให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการในสัดส่วน 2 ใน 3 เพื่อให้มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้ตอบสนองปัญหาของตนเอง
"เราลดพื้นที่เพาะปลูกให้เล็กลง แต่มีรายได้ที่มากขึ้น โดยศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาจากหลายที่ และมีตลาดรองรับผลผลิต"
ความท้าทายในท้องถิ่น
การขยายพื้นที่เกษตรกรรมบนที่สูง
เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บนที่สูงล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้มีพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมมีน้อย เกษตรกรมีการใช้พื้นที่เพื่อทำไร่ข้าวโพด สวนผลไม้ ยางพาราและทำนา ชุมชนจึงต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการบุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำ มีการลักลอบตัดไม้และขยายที่ดินทำกินเข้ามาในเขตป่าชุมชน ชุมชนเองก็ยังขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเกิดข้อพิพาทในการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินกับภาครัฐอยู่เสมอ และเนื่องจากพื้นที่ทำกินของประชาชนประมาณร้อยละ 50 ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูขี้เถ้า ภูเรือทำให้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่เรื่อยมา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ
ผลพวงจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแผ้วถางที่ดินที่ทำให้สูญเสียหน้าดินไปมาก เกิดการชะล้างพังทลายลงสู่ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุงที่ทำให้ลำน้ำบางส่วนตื้นเขิน การทับถมของดินในลำน้ำทำให้พันธุ์ปลาบางชนิดสูญหาย วังปลาหายไปหลายแห่ง ชาวบ้านจึงหันไปจับปลาที่หนองในนาแทน
เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวยังมีผลทำให้มีการใช้รถไถพรวนดินในทุกฤดูกาลผลิต เกิดตะกอนดินจำนวนมหาศาลไหลลงสู่แม่น้ำตอนล่าง รวมถึงมีสารเคมีตกค้างและปนเปื้อนในระบบนิเวศของแม่น้ำ และยังแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำสากลอีกด้วย
ในกรณีการขุดลอกลำน้ำหมันเป็นประจำทุกปี ที่คิดว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือนของชาวบ้านนั้น ในความเป็นจริงแล้วส่งผลเสียตามมาไม่น้อย อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พัด หรือระหัดวิดน้ำ ลดจำนวนลงและหายไป ซึ่งพัดนี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ช่วยดึงน้ำมาใช้ในการเกษตรสำหรับพื้นที่ที่มีนาอยู่ใกล้ลำน้ำหมัน โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้วัสดุธรรมชาติในการเกษตร ลดการเผาไหม้ ลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย การขุดลอกลำน้ำหมันทำให้ก่อไผ่ริมตลิ่งหายไป เกิดการพังทลายของคันดิน น้ำพัดพาทรายเข้าที่นา จนชาวนาไม่สามารถทำนาได้อีก การขุดลอกยังทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณลดลงด้วย จึงกล่าวได้ว่า “การแก้ปัญหาหนึ่งของภาครัฐสร้างอีกหลายปัญหาให้ชาวบ้านและระบบนิเวศ” การแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐจากบนลงล่างโดยไม่สนใจระบบนิเวศและความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรจะต้องมีการหาข้อสรุปกัน
ความแปรปรวนของสภาพอากาศและปัญหาภัยแล้ง ปัญหาไฟป่า เกิดจากระบบการการผลิตของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่กำหนดรูปแบบหรือวิถีการผลิตที่นำไปสู่การทำลายล้างทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ให้ลดลงด้วย คือ ในทุกปีเมื่อถึงรอบการผลิตข้าวโพดก็จะมีการจุดไฟเผาวัชพืช เผาตอซังข้าวโพด ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าตามมา ซึ่งไฟป่ายังได้ลุกลามไปสู่ป่าชุมชนและเขตป่าอนุรักษ์ที่ยากต่อการสกัดกั้นและมอดดับได้
ผลกระทบที่ตามมาอีกประการก็คือในกระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีปราบวัชพืช ที่เมื่อระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก็จะทำลายชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีปริมาณมากในการผลิตนั้นเป็นสาเหตุของการปลดปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ สารไนตรัสออกไซด์ จำนวนมากซึ่งเป็นสารตัวสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นผลมาจาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็คือ ในการปลูกข้าวไร่ของฤดูการผลิตในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 ได้เกิดปัญหาข้าวลีบและข้าวไม่ออกรวงในการปลูกข้าวไร่ เนื่องมาจากขาดน้ำและไม่ได้รับน้ำฝนอย่างเพียงพอในช่วงระยะเวลาการตั้งท้องซึ่งเป็นระยะของการติดเมล็ด การเลื่อนของฤดูกาลยังส่งผลต่อการกระจายตัวของฝนในพื้นที่ไม่เท่ากัน ทำให้การวางแผนการผลิตของชุมชนทำได้ยากขึ้น
ในอดีตผู้หญิงและครอบครัวในพื้นที่ลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุงยังประสบปัญหาที่ไม่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เพราะมีความเปราะบางมากกว่า เมื่อพิจารณาแล้วผู้หญิงเองเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าผู้ชายในบางมิติ เช่น การจัดเตรียมอาหารสำหรับครอบครัว การดูแลสมาชิกในครอบครัว อย่างไรก็ตามผู้หญิงมักเข้าไม่ถึงประโยชน์ของทรัพยากรเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ภูเขาสูงทำให้มีความยากลำบากในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เป็นต้น
การขับเคลื่อนของคนในชุมชน
พลิกเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรกรรมผสมผสาน
เกษตรกรในพื้นที่แต่เดิมที่นิยมปลูกไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลังเป็นเกษตรกรรมแบบเชิงเดี่ยวที่ใช้น้ำน้อย แต่ส่งผลกระทบด้านลบตามมามากมายไม่ว่าจะเป็นในด้านการทำลายระบบนิเวศป่าต้นน้ำ จนถึงพื้นที่ลุ่มน้ำ และการปนเปื้อนสารเคมี แต่เมื่อมีการจัดการที่ถูกต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมแบบผสมผสานโดยนำพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน อโวคาโด้ เงาะ รวมทั้งไผ่พันธุ์ต่าง เข้ามาในชุมชน
เมื่อปี พ.ศ. 2540 ลุงประหยัดปลูกสวนส้มไว้กว่า 500 ต้น เกิดโรคระบาดลงทำให้สวนส้มเสียหายหนักต้องเปลี่ยนมาเป็นไร่ข้าวโพดแทน แต่ก็เป็นพืชที่ใช้ปุ๋ยปริมาณมาก ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มค่า จึงมองหาพืชชนิดอื่นที่สามารถทำรายได้ให้มากกว่า จนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบนิเวศต้นน้ำหมันที่มีกล้าทุเรียนให้ทดลองปลูก นับว่า “สวนลุงหยัด” เป็นสวนนำร่อง เริ่มปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ลุงประหยัดมีรายได้เฉพาะจากการขายปลีกโดยผ่านทางการตลาดออนไลน์ ประมาณ 30,000 บาท จากต้นทุเรียนเพียง 2 ต้น ที่ปลูกก่อน และมีการคาดการณ์ว่าปีต่อไปจะมีรายได้ที่มากขึ้นจากต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตมากจำนวนต้นขึ้น
นับว่าทุเรียนเป็นพืชที่เหมาะกับพื้นที่ของชุมชน เพราะสามารถปลูกตามที่ราบสูงของไหล่เขาได้ อีกทั้งไม่ต้องการน้ำมาก ปริมาณการรดน้ำเพียง 1 ครั้ง ต่อ 3 วันเท่านั้น และมีการปลูกพืชผักสวนครัวแซมไประหว่างต้นทุเรียนด้วย
ปัจจุบันมีการเพาะกล้าทุเรียนภายในชุมชนเอง เพื่อเป็นการขยายพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยสวนพ่อฉลาดทำการเพาะเมล็ดเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เกษตรกรได้รับกล้าก็นำไปปลูก แล้วทำการติดตาติดยอด หากต้องการขายเฉพาะกล้าทุเรียนก็สามารถขายได้กล้าละ 100 บาท หรือหากเป็นต้นก็ประมาณ 450-500 บาทต่อต้น นับว่าสามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ พ่อฉลาดเป็นผู้ริเริ่มปลูก เรียนรู้ด้วยตนเอง แล้วจึงขยายผลส่งต่อความรู้ให้เกษตรกรที่สนใจรายอื่น ๆ เพิ่มเติม
นอกจากทุเรียนที่เป็นพืชเศรษฐกิจแล้ว อโวคาโด ยังนับว่าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มปลูกกันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกไว้กินเอง กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย มีเพียงไม่กี่สวนเท่านั้นที่มีผลผลิตเหลือจำหน่าย ซึ่งปีที่ผ่านมาทำรายได้ประมาณ 12,000 บาท จึงเป็นที่น่าสังเกตุว่าอโวคาโดจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชนต่อไป
ชาวบ้านยังสร้าง "ป่าส่วนตัว" ที่ปลูกไม้ใช้สอย เช่น ยางนา ต้นก่อ เป็นต้น ซึ่งการสร้างป่าส่วนตัวในที่ดินของตัวเองนั้นยังสร้างแหล่งอาหารซึ่งจะมีพวกเห็ด และสัตว์เล็กสัตว์น้อยมาอาศัย และยังมีไม้ใช้สอยในการใช้ทำสิ่งก่อสร้างไว้ใช้เองอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ในอนาคตชาวบ้านไม่จำเป็นต้องไปบุกรุกต้นไม้ในป่ามาใช้ ลดแรงกดดันการใช้ทรัพยากร รักษาระบบนิเวศบริการในสมดุลขึ้น
สวนทุเรียนและต้นไม้ชนิดอื่นๆ รวมทั้งป่าส่วนตัวที่ปลูกไม้ใช้สอยเล่านี้ยังมีประโยชน์ทางอ้อมในการป้องกันไฟป่า และการเผาแบบไร้ขอบเขตอีกด้วย กล่าวคือการที่ชาวบ้านเป็นจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสานที่มีไม้ยืนต้นอยู่นั้น การเผาจึงเสี่ยงต่อการทำให้ต้นไม้เสียหาย ซึ่งหากคำนวนดูแล้วมูลค่าของต้นไม้นั้นสูง จึงทำให้เกษตรกรที่จะเผาไร่ซากนั้นต้องระมัดระวังทำแนวกันไฟอย่างดี ถ้าไร่ผสมผสานใดอยู่ติดชายป่าชุมชนหรือป่าอนุรักษ์ก็จะกลายเป็นพื้นที่กันชนไปป่าไปโดยปริยาย ช่วยลดไฟป่าที่จะลุกลามจากการเผาไร่ซากได้อีกทางหนึ่ง
การจัดการป่าชุมชน
ปี พ.ศ. 2550 การเริ่มปลูกไม้ไผ่ริมลำน้ำเพื่อเพิ่มการยึดเกาะของดินไม่ให้ถูกกัดเซาะได้ง่าย กันตลิ่งพัง ทั้งไผ่หก ไผ่ซาง มีประโยชน์ในการทำโรงเรือน แปลงร้านแตงกวาญี่ปุ่น หนอนรถด่วนจากต้นไผ่ ขายได้เงินกิโลกรัมละกว่า 500 บาท ยังมีหน่อไม้ เห็ดโคนขึ้น เก็บกินได้ เดิมชาวบ้านยังไม่มีความรู้ความเข้าใจการปลูกไม้ไผ่ริมลำน้ำ จะมีเพียงสวนของเกษตรกรบางรายเท่านั้นที่เข้าร่วมการทดลองแล้วได้ผลดี ปริมาณน้ำฝนมามากแล้วเมื่อลดลงก็ไม่เป็นปัญหา ที่ดินก็ยังอยู่ไม่โดนการกัดเซาะพังทลายไป
นอกจากต้นไผ่แล้ว ยังมีพืชผักอีกหลายชนิดที่สามารถปลูกไว้กันดินสไลด์ โดยปลูกสลับชนิดกันใต้ร่มไม้ในพื้นที่ เช่น บีกั้ง ใช้ทำอาหารและสมุนไพร เก็บขายมีรายได้กว่า 20,000 บาทต่อปี ค้างคาวดำ เป็นทั้งอาหารและยาบำรุงกำลัง ต้นอีรอกซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่น ปลูก 1 ปี ก็สามารถตัดขายได้ ไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้าหรือสารเคมีใด ออกดอกหน้าแล้งประมาณเดือนเมษายน เฉลี่ย 1 ปี ขายได้มากกว่า 10,000 บาท เห็ดโคน เห็ดปลวก กล้วยป่า ผักหนาม เหล่านี้นับเป็นป่าชุมชน ป่าส่วนตัว ที่ผลิตอาหารได้ตลอดทั้งปี
การจัดการทรัพยากรด้วยวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น
ป่าดงหอ เป็นพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชาวบ้านซึ่งมีบทบาทด้วยกันสองทางคือหนึ่ง บทบาทของป่าดงหอในทางสังคมวิทยา เป็นการใช้ความเชื่อ ความศรัทธาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เป็นข้อตกลงในการเข้าใช้ทรัพยากรร่วมกันของชาวบ้าน ผ่านการตัดสินใจของผู้นำทางจิตวิญญาณ และบทบาทที่สองคือ บทบาทของป่าดงหอในทางนิเวศวิทยา กล่าวคือป่าดงหอเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ช่วยกระจายพันธุกรรมพืชในท้องถิ่น และลดการสูญเสียพันธุกรรมพืชท้องถิ่น การบริหารจัดการป่าซึ่งเป็นภูมิปัญญาทางนิเวศที่ชุมชนสร้างกุศโลบายและวางหลักในการจัดการป่าจากภูมิปัญญาชุมชน ใช้ความเชื่อในการอนุรักษ์ป่าว่าเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นทรัพย์สินของชุมชน ที่ชุมชนมีความเป็นเจ้าของและมีหน้าที่ในการต้องช่วยกันดูแล แต่ไม่สามารถครอบครองในรายบุคคลได้
การพัฒนาความเป็นอยู่
การต่อระบบประปาภูเขา เพื่อนำมาใช้ในการบริโภคและทำการเกษตร รวมถึงการเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วยในกระบวนการจัดการน้ำ เมื่อมีน้ำก็ทำให้การเกษตรทำได้ง่ายขึ้น น้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศบริการและการปรับเปลี่ยนการเกษตรจากเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน โครงการประปาภูเขาจึงเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูระบบนิเวศบริการ อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ด้วย เป็นแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น มีรายได้ตามฤดูกาล ไม่ต้องรอราคาจากผลผลิตจากเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเดียว ลดปริมาณพื้นที่ในการทำการเกษตรลง มีสุขภาพที่ดีขึ้น
เกษตรกรมีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลระหว่างชุมชนกันเอง โดยผ่านการศึกษาดูงาน เช่น บ้านน้ำพุง บ้านทุ่งเทิง เปิดเวทีชาวบ้านร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เสนอแนะวิธีการ การทดลองเริ่มทำจากสวนตัวเอง เมื่อได้ผลดีจึงบอกต่อ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง จึงเกิดการอยากทำตามและร่วมมือกันพัฒนาระบบนิเวศในชุมชนของตัวเอง
เครือข่ายผู้หญิงและครอบครัวเองก็มีความสนใจในการทำปุ๋ยชีวภาพโดยการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากสื่อออนไลน์ เป็นการประหยัดต้นทุนที่จะต้องซื้อปุ๋ยราคาสูง อีกทั้งยังทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่จะสามารถเผยแพร่ให้คนในชุมชนรายอื่น ๆ ทำตามได้
การเกษตรแบบผสมผสานสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สรุปภาพรวมชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้การพัฒนาโครงการคือ
- ชาวบ้านมีทางเลือกใหม่ในการผลิต ไม่ต้องอยู่ในวังวนของเกษตรเชิงเดี่ยวที่ไม่สามารถกำหนดราคาได้
- ชาวบ้านมีรายได้ที่หลากหลายช่องทาง ไม่ต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว
- ชาวบ้านลดพื้นที่เพาะปลูกลง แต่มีรายได้ที่สูงขึ้น
- ชาวบ้านมีระบบนิเวศบริการที่ดีขึ้น มีแหล่งอาหารจากธรรมชาติที่มากขึ้น สร้างความมั่นคงทางอาหาร
- ชาวบ้านมีองค์ความรู้ด้านการผลิตและการอนุรักษืมากขึ้น ทั้งจากการให้ความรู้จากโครงการ และการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน
บทบาทสตรีกับการเปลี่ยนแปลง
หญิงมักขวนขวายหาความรู้ในสิ่งที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ในยุคแห่งการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดน ช่องทางการเรียนรู้มากมาย ทั้งสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ และการจัดเวิร์คช้อบ อบรมต่างๆ สร้างโลกของการเรียนรู้ใหม่ให้กับผู้หญิงแห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย ได้เรียนรู้ รับประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนการผลิต และช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศบริการที่สูญเสียไปจากกระบวนการผลิตเชิงเดี่ยวที่มีมาอย่างยาวนาน
กลุ่มผู้หญิงที่บ้านทุ่งเทิง ตำบลบ้านโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คือตัวอย่างหนึ่งของการมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดและการลงมือทำที่มีจุดเริ่มต้นจากผู้หญิง การศึกษาหาความรู้เพื่อการตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบการผลิตอาหาร นั่นทำให้ผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญที่เป็นผู้มองเห็นปัญหาและคิดค้นวิธีการแก้ไข การเริ่มมองปัญหาจากจุดเล็กๆเป็นจุดเด่นของผู้หญิง ความใส่ใจในรายละเอียดและคิดถึงคนรอบข้างทำให้กลุ่มผู้หญิงในบ้านทุ่งเทิงนี้หันกลับมาสนใจในการเกษตรที่ปลอดภัยขึ้น
ผู้หญิงยังเป็นจุดส่งต่อองค์ความรู้ที่มีให้กับคนรุ่นต่อไปได้ง่าย เพราะผู้หญิงมีเวลาที่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากกว่าโดยเฉพาะลูกหลานของตัวเอง ทำให้เกิดการส่งต่อความรู้ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์ความรู้ วิถีวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องของการสื่อสาร เทคโนโลยีต่างๆ กลุ่มผู้หญิงและเยาวชนนั้นสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ง่าย
บทบาทของผู้หญิงที่บ้านทุ่งเทิงและกลุ่มผู้หญิงในเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลยจึงเป็นแบบอย่างที่ควรนำไปพัฒนาในพื้นที่อื่นๆเพื่อส่งเสริมความรู้และเพิ่มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบริการมีความหลากหลายและเข้มแข็งมากขึ้น
"การเกษตรแบบผสมผสานสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ"
ผลกระทบเชิงนโยบาย
ผลกระทบต่อนโยบายของชาติ
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่าต้นน้ำหมัน มีความสดคล้องกับยุทธศาสตร์ของระดับภูมิทัศน์ธรรมชาติเทือกเขาเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์-เลย) 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน
2. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตที่ยั่งยืน
3. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอาชีพที่หลากหลายสู่การสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานทรัพยากรของชุมชนอย่างยั่งยืน
4. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมและพัฒนาระบบกลไกการบริหารจัดการที่เป็นธรรม
โครงการฯ ยังมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนงานและนโยบายของประเทศครอบคลุมหลายนโยบาย ดังนี้
1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564
2. แผนแม่บทความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564
3. แผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 – 2564
4. แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2592
การมีส่วนร่วมในวาระระดับโลก
โครงการฯ มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้แก่ เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่นั่งยืน และในประเด็นตัดขวาง (Cross cutting issues) ของโครงการยังเชื่อมโยงกับ SDGs ในเป้าหมายที่ 1 การขจัดความยกจน และเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งโครงการฯยังตอบสนองต่อพันธะกรณีด้านการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะการประชุม COP ครั้งที่ 18 ที่ประชุมได้เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทผู้หญิงในการตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก จนมีข้อตกลงหนึ่งฉบับที่เรียกว่า Lima Agreement ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การยกระดับบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความเป็นธรรมโดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย
การพัฒนาต่อยอด และความยั่งยืน
การทำซ้ำ
โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุงด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนนี้เป็นที่สนใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่ต้องการนำไปเป็นตัวอย่างในการดำเนินงาน เช่นชาวบ้านทุ่งเทิงสนใจศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำเกษตรผสมผสานจากสวนของชาวบ้านน้ำพุง เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างในการทดลองทำที่แปลงเกษตรของตน การอนุรักษ์ตลิ่งด้วยการปลูกไผ่ชนิดต่าง ๆ ริมแม่น้ำ ก็ถูกกระจายไปทั่วหมู่บ้านที่แม่น้ำไหลผ่าน ไม่ว่าจะเป็นลำน้ำพุง หรือลำน้ำหมัน การจดบันทึกชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ และการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆของชาวบ้านในเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้นทำให้องค์ความรู้ขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายขอบเขตการพัฒนาไปสู่ระดับภูมิทัศน์
การพัฒนาต่อยอด
ผลงานของโครงการฯ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก GEF SGP ในพื้นที่ลุ่มน้ำหมันและลุ่มน้ำพุง อ.ด่านซ้าย จ.เลยนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเมื่อแรกเริ่ม ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ การฟื้นฟูดินในที่ดินทำกินไม่ให้เสื่อมโทรม ลดการใช้สารเคมี ลดการเผาไหม้ในการเกษตร และการเผาป่าที่เป็นบ่อเกิดภาวะโลกร้อน สามารถทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง รวมถึงการมีส่วนช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าต้นน้ำ และมีการนำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการจัดการน้ำประปาภูเขามาใช้ในแปลงเกษตรของตน สามารถพัฒนาต่อยอดไปถึงการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นและเพิ่มรายได้จากผลผลิตที่หมุนเวียนสร้างรายได้ให้ทั้งปี
ความยั่งยืน
เครือข่ายประชาสังคมเทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน GEF SGP ที่ดำเนินงานโดย UNDP โดยเครือข่ายฯ จะดำเนินการต่อยอดและขยายผลงานอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุงด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปอีกโดย
-
ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุงด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน โดยเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน
กลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำหมันและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการทำเกษตรกรรมยั่งยืน กำหนดวาระในการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความหลากหลายในแปลงเกษตรกรรมยั่งยืนของเครือข่าย -
ประสานความร่วมมือแผนงาน และแผนงบประมาณจากเทศบาลตำบลด่านซ้ายเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำหมัน-ลุ่มน้ำพุงด้วยการผลิตแบบเกษตรกรรมยั่งยืน
-
การขยายผลการเรียนรู้ให้แก่สมาชิกในชุมชนและชุมชนข้างเคียงให้มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการทำเกษตรยั่งยืน
-
เผยแพร่องค์ความรู้ ภูมิปัญญาการจัดการน้ำที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการน้ำเพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตแบบยั่งยืน จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ น้ำประปาภูเขา โซล่าเซลล์สูบน้ำ และระหัดวิดน้ำ
-
ขยายผลและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้การผลิตอาหาร พืชผักปลอดภัยจากแปลงเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำหมักชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมีไปสู่โรงเรียนและกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาของพื้นที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ วิถีชีวิตของคนในชุมชนที่แตกต่างกัน และการแก้ปัญหาก็ไม่สามารถแก้เพียงที่ใดที่หนึ่งได้ จึงต้องมีการร่วมมือกันแก้ปัญหาทั้งระบบนิเวศของลุ่มน้ำ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน องค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน และที่สุดคือคนในชุมชนเอง
“ชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการพัฒนา แต่การพัฒนาอะไรในพื้นที่ต้องฟังเสียงชาวบ้าน ต้องเรียนรู้วิถีชีวิต และในฐานะเจ้าของพื้นที่ชาวบ้านจะต้องเกิดการตั้งคำถามก่อนที่จะปล่อยให้มีการเข้ามาสร้างหรือพัฒนาในสิ่งที่ชุมชนไม่ต้องการเพราะจะทำให้ระบบนิเวศหายไป เช่นเดียวกับงานวิจัยลุ่มน้ำหมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่เห็นชีวิตของผู้คนตรงนั้น” ผศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา