top of page

พิทักษ์ "เต่าปูลู" แห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์

การเสริมสร้างกลไกชุมชนเพื่อการปกป้องคุ้มครอง
"เต่าปูลู"และถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่เทือกเขาเพชรบูรณ์

เต่าปูลูเป็นเต่าน้ำจืดและเป็นเต่าภูเขา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าPlatysternonmegacephalumในสกุล Platysternonวงศ์ Platysternidaeโดยมีชื่อในภาษาอังกฤษ(English Name) ว่า Big-headed Turtleเต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามกฎกระทรวง กําหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่า คุ้มครอง พ.ศ.2546 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือ IUCN จัดสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) การอนุรักษ์เต่าปูลู ในปี ค.ศ.2011 ให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered) เพื่อให้มีการคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)สำหรับมาตรการในการอนุรักษ์และจุดมุ่งเน้นเฉพาะชนิดพันธ์ (Conservation Need(s) Requiring Species Focused Action) : คือการควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์ (Control of overexploitation)

ลักษณะเฉพาะของเต่าปูลูคือ มีหัวโต ปากงุ้มแหลม เล็บทั้งสี่ข้างแหลม คมมากและมีหางที่ยาวมากจึงทำให้เต่าไม่สามารถเข้ากระดองได้ เป็นเต่าที่อาศัยทั้งบนบกและในน้ำ จึงมักจะพบถิ่นอาศัยของเต่าปูลูทั้งในพื้นที่ลำธารน้ำตกบนภูเขาสูงหรือป่าดิบชื้น เต่าปูลูเป็นเต่าที่กินทั้งเนื้อซึ่งอาหารของเต่าคือ ปลา กุ้ง ปู หอยเป็นต้น การขยายพันธุ์สามารถวางไข่ได้ 3 - 5 ฟอง ชอบหากินตอนกลางคืน โดยสามารถพบเต่าปูลูได้ในหลายจังหวัดของภาคเหนือและพื้นที่จังหวัดเลย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำหมันจะเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูเพราะพื้นที่ลุ่มน้ำหมันเป็นแม่น้ำที่ไหลเชื่อมออกมาจากพื้นที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ทำให้มีน้ำที่สะอาด ประกอบกับโครงสร้างของแม่น้ำหมันมีแก่งวังของน้ำตกและลำธารมีหินเป็นองค์ประกอบ รวมถึงมีร่องน้ำกระจายตัวจำนวนมากที่เหมาะสมต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูประกอบกับมีพื้นที่ป่าไม้และร่องน้ำเชื่อมต่อกับพื้นที่อนุรักษ์ทำให้ต้นน้ำหมันมีการกระจายตัวของเต่าปูลูที่ยังพบเห็นในจำนวนที่มาก สถานภาพปัจจุบันของเต่าปูลูเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์และถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากไม่เร่งรีบในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงการลดภัยคุกคามย่อมส่งผลให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของเต่าปูลูอย่างแน่นอน

โดยมีปัจจัยของภัยคุกคามและความเสี่ยง ดังนี้

 

1) มีการจับเต่าปูลูมาเพื่อการบริโภค การเลี้ยงดูในฐานะเป็นเต่าที่มีลักษณะแปลกและมีลักษณะเฉพาะของตนเอง ที่น่าห่วงกังวลคือการลักลอบล่าเต่าปูลูเพื่อการค้าขายทั้งในและนอกชุมชน ประกอบกับการมีความเชื่อว่าการได้กินเนื้อเต่าปูลูจะนำไปสู่การบำรุงสมรรถภาพทางเพศและการบำรุงกำลัง ทำให้เต่าปูลูเป็นที่นิยม มีราคาแพงเพราะแรงจูงใจในเรื่องราคาจากผู้ซื้อ ซึ่งราคาในท้องถิ่นที่มีการซื้อขายกันกิโลกรัมละ 1800 – 2,000 บาท ซึ่งถ้าสามารถลักลอบส่งขายในตลาดต่างประเทศจะมีราคาเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว คือ กิโลกรัมละ 4,000 – 7,500 บาท ซึ่งประเทศปลายทางที่นิยมซื้อเต่าปูลูคือประเทศจีนและประเทศเวียดนาม

 

2) เต่าปูลูกำลังถูกคุกคามเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ โดยเฉพาะการบุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินไปสู่การทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพด การปลูกขิง การปลูกกะหล่ำปลี เป็นต้น แล้วในระบบการผลิตมีการใช้สารเคมีกระจายตัวในระบบนิเวศซึ่งส่งผลต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูโดยตรงเพราะเต่าปูลูอยู่อาศัยในน้ำที่สะอาด พร้อมกันนั้น การใช้สารเคมียังสัมพันธ์ต่อการทำลายสัตว์ชนิดอื่นที่เป็นอาหารของเต่าปูลู ได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอย เป็นต้น ทำให้เต่าปูลูไม่สามารถดำรงชีวิตในระบบนิเวศเดิมได้ จึงทำให้ปริมาณของเต่าปูลูลดลง นอกจากนี้ เต่าปูลูยังชอบอาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่มีทั้งระบบนิเวศป่าไม้และแม่น้ำเป็นองค์ประกอบ เต่าปูลูจึงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันการอนุรักษ์และฟื้นฟูถิ่นอาศัยของเต่าปูลูจำเป็นต้องอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยและองค์ประกอบดังกล่าวเช่น ต้นไม้ริมน้ำ แก่งหิน วังน้ำ ซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกทำลาย 

3) การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเต่าปูลูทำให้ขาดแนวคิดจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เต่าปูลูในฐานะที่เป็นสัตว์หายากและเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพของการสูญพันธ์ รวมถึงการไม่มีความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับเต่าปูลู และการขาดมาตรการที่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการปกป้องเต่าปูลู ซึ่งเต่าปูลูได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษตามลักษณะความผิด สำหรับผู้มีเต่าปูลูไว้ในการครอบครองและนำไปเพื่อการบริโภคและการค้าคือมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

4) การขาดกลไกความร่วมมือ การขาดการบูรณาการความร่วมมือ และการขาดการจัดการแบบมีส่วนร่วม (Co - management) ในการดำเนินมาตรการและนโยบายที่สอดคล้องเหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่และเท่าทันสถานการณ์ภัยคุกคามที่มีต่อเต่าปูลูในพื้นที่ลุ่มน้ำหมัน รวมถึง การขาดการเชื่อมโยงความร่วมมือที่มีมิติการแก้ไขปัญหาในระดับภูมินิเวศ (Landscape) เพราะพื้นที่ลุ่มน้ำหมันเชื่อมโยงสัมพันธ์ทั้งพื้นที่อนุรักษ์และชุมชนในลุ่มน้ำพุงทั้งระบบนิเวศ

CHS01062.jpg

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่าเต่าปูลู โดยสถานภาพปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบางสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อยู่แล้ว และกำลังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ปัญหาการถูกไล่ล่าและคุกคามจากการถูกจับมาเพื่อการบริโภค การนำมาเลี้ยงดู การนำมาสู่การค้าขายอย่างหนัก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำให้เกิดการทำลายระบบนิเวศของต้นน้ำซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและอาหารของเต่าปูลูเป็นอย่างมากทำให้เต่าปูลูไม่สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธ์ในระบบนิเวศนั้นต่อไปได้ หากไม่มีการดำเนินการปกป้องคุ้มครองชนิดพันธุ์ของเต่าปูลูก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงต่อการลดปริมาณและการสูญเสียพันธุกรรมในระบบนิเวศลุ่มน้ำหมันและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของต้นน้ำเพราะเต่าปูลูเป็นสัตว์ในห่วงโซ่อาหารในลำดับบน ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการโดยเร่งด่วน

จากความสำคัญดังกล่าวภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (gef) โครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNDP) และ กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนให้เกิดกลไกในระดับชุมชนทั้งในพื้นที่ต้นน้ำหมันและต้นน้ำพุงในการเป็นกลไกการเฝ้าระวัง และได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับส่วนราชการในอำเภอด่านซ้ายและหน่วยอนุรักษ์ในพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการการลักลอบจับเต่าปูลูเพื่อการบริโภคและการค้าและนับเป็นความสำเร็จอย่างสูงในการดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและกำลังขยายผลการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

bottom of page