top of page
CHS03811.jpg

"บางกะม่า" ชีวิตในป่ามรดกโลก

ชีวิตในป่ามรดกโลกกับการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน

“จุดกลับใจใช้ 4x4” ที่ติดอยู่ข้างทางเข้าหมู่บ้านบางกะม่าอธิบายความยากลำบากของเส้นทางได้อย่างดี ถนนที่ทั้งชันและเป็นหลุมเป็นบ่อ คือเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านเส้นทางเดียวเท่านั้น ผู้คนในหมู่บ้านล้วนใช้เส้นทางนี้ไปทำธุระของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งพืชผล การไปเรียนของเด็กๆ หรือแม้กระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วย เส้นทางแบบนี้อาจถูกใจนักท่องเที่ยวขาลุย แต่คนที่ใช้เส้นทางนี้ทุกวันคงไม่มีความสุขเท่าไหร่นัก

 

บางกะม่าตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน หนึ่งในกลุ่มป่าแก่งกระจานที่เพิ่งประกาศเป็นมรดกโลก และเส้นทางเข้าหมู่บ้านเส้นนี้ก็รวมอยู่ในพื้นที่ของมรดกโลกด้วย แม้ชาวบ้านบางกะม่าจะได้รับการจัดสรรที่ทำกินอย่างชัดเจนแล้ว แต่การที่ถนนเข้าหมู่บ้านนั้นไม่ได้ถูกกันไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ส่งผลให้ถนนเส้นนี้ปิดโอกาสในการพัฒนาไปแล้ว เพราะไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาพัฒนาได้เนื่องจากการติดข้อกฎหมายอนุรักษ์ป่า

ชุมชนบางกะม่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่อาศัยในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งก่อนจะมีกฎหมายอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่กระจายอยู่ทั่วป่าตะวันตกของไทย

 

ชีวิตของชาวบางกะม่าที่ปรับเปลี่ยนจากการทำไร่หมุนเวียนในรุ่นปู่ย่าตายายเข้าสู่เกษตรถาวร ปรับเปลี่ยนไปตามนโยบายอนุรักษ์ป่า มีการทำเกษตรทั้งเชิงเดี่ยวและผสมผสาน มีนายทุนและเจ้าของที่ดินจากภายนอกชุมชนอยู่ด้วย

CHS05380.jpg
CHS05028.jpg
CHS05079.jpg

"น้ำ คือบ่อเกิดความมั่นคงทางอาหาร และคือหลักประกันความอยู่รอดของพืชพันธุ์ คือหลักประกันคุณภาพชีวิตของเรา

ตอนนี้ผมกำลังเตรียมต่อท่อไปยังจุดต่าง ๆ ต้องทำเรื่อย ๆ ต้องใช้เวลา กว่าจะครอบคลุม" นิสัน ปาลิพันธ์ กล่าว

น้ำซับที่กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณนั้นเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับชุมชนเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆทั้งอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน แนวท่อสีฟ้าถูกเชื่อมต่อลงมาเป็นทอด ๆ เพื่อสร้างโครงข่ายประปาหมู่บ้านและอาศัยแรงดันน้ำส่งตามสายไปยังแปลงเกษตรถาวร ผืนนาข้าวไร่ถูกไถปรับเพื่อรองรับการปลูกอะโวคาโด ทุเรียนและขนุน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะทำให้พวกเขามีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ แปลงข้าวโพดและไร่สับปะรดขนาดใหญ่ที่เคยก่อปัญหามลพิษทางอากาศถูกแทนที่ด้วย ขิง ข่า มะละกอ กล้วย เป็นธนาคารอาหารให้กับชุมชนและบางส่วนที่เหลือจากการขาย เช่น กล้วยสุกและหยวกกล้วยนำมาคลุกเคล้ากับปลายข้าวเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงหมูและไก่ไข่ ไข่ไก่ส่วนหนึ่งยังสามารถนำไปขายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

 

แต่ด้วยปัญหาของสภาพของถนนหนทางเข้า-ออกหมู่บ้านที่ไม่ได้กันไว้ให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์จากการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก การพัฒนาทางสำหรับสัญจรนั้นจึงไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาพัฒนาได้ สร้างความยากลำบากในการขนส่งผลผลิตลงไปขาย รวมถึงการเดินทางเพื่อลงไปยังพื้นที่ด้านล่างจึงเป็นเรื่องยาก ส่งผลทั้งด้านการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขอีกด้วย โดยชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่มย่อยเพื่อรวบรวมสินค้าทางการเกษตรให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อจุดคุ้มทุนในการลงไปขายนอกชุมชน และซื้อของจากตลาดใน อ.บ้านคา กลับเข้ามาใช้ในชุมชน

จากความยากลำบากของถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน ก็สร้างโอกาสในการท่องเที่ยวให้กับชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัย หรือการท่องเที่ยวในรูปแบบการศึกษาชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านสร้าง "ลานสเตย์" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ "สมัยก่อนทำ โฮมสเตย์ แล้วมันไปไม่รอด นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอยากได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่าที่จะไปนอนในบ้านของชาวบ้าน ลานสเตย์จึงเป็นแนวคิดใหม่ในการท่องเที่ยวชุมชน เพียงแต่เราต้องจัดการเครื่องอำนวยความสะดวกบางอย่าง เช่นไฟส่องสว่าง และที่สำคัญคือห้องน้ำ" สัน อธิบายแนวคิดการทำ ลานสเตย์ เพื่อดึงรายได้เข้าชุมชน

 

ทั้งนี้เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ปริมาณน้ำในชุมชนเริ่มน้อยลง ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้น ส่งผลกระทบทั้งน้ำใช้ในชุมชน น้ำใช้ในการเกษตร และน้ำสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหากันต่อไปในอนาคต

 

 

CHS04166_edited.jpg
CHS04135.jpg

การบริหารจัดการน้ำที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์ด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่ชาวบ้านเริ่มทำกัน แม้ตัวเลขรายได้จะเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้คนที่เข้ามาในหมู่บ้านด้วย

CHS04391.jpg
CHS05327.jpg

ปัญหาน้ำเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพืชผล รวมทั้งถนนหนทางที่ยากลำบากยังเป็นอุปสรรคในการขนส่ง

CHS05314.jpg

ในส่วนของภาคเกษตรนั้นมีการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้นโดยเฉพาะอะโวคาโดที่มีเรื่องราวน่าสนใจ โดยอะโวคาโดเข้ามาในหมู่บ้านนับสิบปี จากการที่มีญาติโยมจากในเมืองนำมาถวายพระที่สำนักสงฆ์บางกะม่า เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็นำเมล็ดไปปลูกจนเป็นต้นใหญ่โต ออกดอกออกผล ร่วงหล่นลงพื้น ในตอนแรกชาวบ้านไม่นิยมกินกันเพราะรสชาติไม่คุ้นเคย แต่ก็มีหลายคนเอาไปปลูกที่บ้านของตัวเองเพื่อให้ร่มเงาเพราะเป็นพืชโตเร็ว จนเมื่ออะโวคาโดมีราคาในตลาด ชาวบ้านจึงได้เก็บขาย นำมาซึ่งรายได้ ด้วยสภาพดิน ฟ้า อากาศที่ดีของบ้านบางกะม่า ทำให้ผลอะโวคาโดทั้งดกและรสชาติดี รายได้จากอะโวคาโดในรอบปีของชาวบ้านคนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 บาทเลยทีเดียว นอกจากอะโวคาโดแล้วชาวบ้านยังปลูกทุเรียน ขนุน ส้มโอ พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวจะเป็นพืชจำพวกสับปะรด

CHS04616.jpg

ต้นอะโวคาโดต้นแรกที่เติบโตขึ้นในสำนักสงฆ์บางกะม่า

หลังจากหยุดทำไร่หมุนเวียนชาวบ้านก็หันไปปลูกพืชที่ส่งขายแทน จนข้าวไร่หายไปจากชุมชน ชาวบ้านต้องซื้อข้าวจากนอกชุมชนมากิน ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร โดยข้าวเป็นอาหารหลักที่จะเป็นพื้นฐานความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ชาวบ้านหันมาตระหนักถึงความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น จึงเกิดการฟื้นฟูการปลูกข้าวไร่ขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน แต่การปลูกข้าวไร่ในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ ก็ทำให้ผลผลิตลดลง อีกทั้งองค์ความรู้ในการปลูกข้าวไร่ของคนรุ่นใหม่ก็น้อยลงไปด้วย 

CHS04942.jpg
CHS05018.jpg

สมุนไพรที่ชาวบ้านเก็บไว้เพื่อใช้เป็นยา

CHS03865.jpg

การจัดการป่าด้วยวิถีวัฒนธรรมของชุมชนผ่านความเชื่อทางศาสนาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยปกป้องรักษาผืนป่าที่เป็นพื้นที่กันชนระหว่างพื้นที่เกษตรและป่าอนุรักษ์ไว้ได้ อีกทั้งชุมชนยังได้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ และกล้าพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด สำนักสงฆ์บางกะม่า ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ป่า เช่น นกหลากหลายชนิด รวมทั้งนกเงือกด้วย หนู กระรอก กระแต ฯลฯ เพราะมีชนิดพันธุ์ต้นไม้หลากหลาย สร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ 

CHS_4362.jpg
CHS04603.jpg
CHS04932.jpg

ด้านสังคมผู้สูงวัยในชุมชนบางกะม่านั้น บางส่วนยังคงทำการเกษตรเล็กๆน้อยๆ ยังมีการส่งต่อภูมิปัญญาเกี่ยวกับการหาอยู่หากิน การเกษตร และการใช้ทรัพยากรในรูปแบบดั้งเดิมอยู่ ภายหลังที่ชุมชนมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ผู้สูงวัยในชุมชนก็มักมีกิจกรรมร่วมกับนักท่องเที่ยวทั้งในด้านการให้ความรู้เรื่องสมุนไพร การเกษตร และเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณี

CHS04436.jpg
CHS04509.jpg

การให้ความช่วยเหลือ/การพึ่งพาอาศัย/การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ 

 

"ภาพความขึงขังของเจ้าหน้าที่อาจจะถูกกำหนดเอาไว้ด้วยตัวบทกฎหมายและข้อบังคับให้เขาต้องปฏิบัติตาม แต่การประนีประนอมและการถ้อยทีถ้อยอาศัยก็ทำให้ความตึงเครียดนั้นลดน้อยลง เขาดูก็รู้ว่าเราเป็นใคร คุ้นหน้าไหม เขาก็ไม่ดุหรอก"

การอยู่ร่วมกันของคนกับป่ามักมีปัญหาให้พบเสมอ ที่บ้านบางกะม่าก็เป็นเช่นกัน ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีอยู่เสมอ แต่หลายอย่างก็มีจุดร่วมเดียวกัน 

"น้ำที่หมู่บ้านนี่ เราก็ต่อท่อไปถึงหน่วยพิทักษ์ป่า ถ้าจะอยู่ร่วมกันก็ต้องช่วยกันทำ" นิสัน ปาลิพันธ์ เล่าถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

ปัจจุบันนี้ได้จัดสรรที่ดินในรูปแบบ สปก. หลายแปลงแล้ว โดยชาวบ้านยังคิดถึงการปลูกไม้ใช้สอยเพิ่มในที่ทำกินของตนเองด้วยนอกจากการทำเกษตรอย่างเดียว ซึ่งชาวบ้านมองว่าหากอยากเพิ่มพื้นที่ป่าก็ควรให้ชาวบ้านมีสิทธิปลูกและตัดไม้ใช้สอยได้ ลดการใช้ไม้จากป่า 

ด้านการจัดการไฟป่าของชาวบ้านนั้นทำกันมาตลอดอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากให้ไฟออกไปจากนอกพื้นที่ของตัวเอง และไม่มีใครอยากให้ไฟลามเข้ามาในที่ทำกินของตัวเอง การจัดการไฟป่าของชาวบ้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว 

CHS04633.jpg
CHS04660.jpg
CHS05090.jpg

ทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูระบบนิเวศบริการไปพร้อม ๆ กันของบ้านบางกะม่านั้นยังคงต้องร่วมกันหารือถึงความต้องการที่แท้จริง การจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำและที่ดินให้เหมาะสมมากขึ้น เป็นเรื่องที่ชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆต้องทำงานกันอีกหลากหลายด้าน แต่แม้ในวันนี้การพัฒนาต่างๆยังไม่ชัดเจน แต่หากเกิดความคิดที่ดีและเกิดความร่วมมือร่วใจก็จะเป็นความหวังในการพัฒนาคุณภาพชชีวิตคนบางกะม่าและระบบนิเวศบริการที่ดีอีกที่หนึ่งในเขตกลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศสูงและทำให้คุณภาพชีวิตคนที่อยู่กับป่าดีขึ้นด้วย

bottom of page