CASE STUDIES
เรื่อง : กมลวรรณ เสาร์สุวรรณ
ภาพ : GEF-SGP THAILAND
"บ้านลังกาพิทักษ์รักผืนป่า"
ผู้นำหญิงร่วมกับพลังคนรุ่นใหม่สร้างเครือข่ายรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว
โครงการฟื้นฟูทรัพยากรป่าฮ่อมวัดโดยกระบวนการบริหารจัดการป่าของชุมชนบ้านลังกา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย นั้นไม่ได้มีเพียงเป้าหมายที่จะฟื้นฟูผืนป่า แต่ยังมีเป้าหมายที่ฟื้นฟูประเพณี วิถีชีวิต รายได้ แหล่งอาหาร ความมั่นคง และผสานความร่วมมือของทั้งเยาวชนและภาคีเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยยังมีปลายทางที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทำให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งผลิตน้ำสะอาดเพื่อเติมเต็มเข้าสู่ลำน้ำแม่ลาวที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวอำเภอเวียงป่าเป้าให้มีน้ำที่สะอาดสำหรับการอุปโภคและบริโภค
โครงการโดยสังเขป
การฟื้นฟูทรัพยากรป่าฮ่อมวัดซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยกระบวนการบริหารจัดการป่าโดยชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ดำเนินกิจกรรมด้านการป้องกันและฟื้นฟูป่า การดูแลจัดการแหล่งน้ำแม่ลาวอันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำกิน การพัฒนาอาชีพจากฐานทรัพยากรป่าและน้ำที่มี “สร้างป่า สร้างรายได้” การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าของคนในชุมชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนบ้านลังกาที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการ ตลอดจนถึงการดำเนินงานร่วมกันและขยายผล ทั้งภายในชุมชนเอง ระหว่างชุมชนในระดับตำบลและอำเภอ รวมทั้งในระดับเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ลาว
ที่ตั้ง
บ้านลังกา ม.4 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประเทศไทย
ผู้ได้รับประโยชน์
ชาวบ้านลังกา จำนวน 976 คน
ขอบเขตความสนใจ
การบริหารจัดการป่าโดยชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเฉพาะการฟื้นฟูทรัพยากรป่าฮ่อมวัดซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำห้วยไคร้ที่ไหลลงสมทบสู่แม่น้ำลาวที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรและชีวิตของคนในชุมชนรวมไปถึงชุมชนใกล้เคียง ด้วยวิธีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนโดยผู้นำสตรีและกลุ่มเยาวชนบ้านลังกา ทั้งการสร้างฝาย ปลูกป่า บวชป่า การทำแนวกันไฟ การมีส่วนร่วมสอดส่องดูแลไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ ลักลอบล่าสัตว์ การดูแลรักษาแหล่งน้ำให้สะอาดปราศจากขยะมูลฝอยและสารพิษ การพัฒนาอาชีพจากแหล่งทรัพยากรป่าให้กับผู้สูงอายุในชุมชน การประสานความร่วมมือภายในชุมชน ระหว่างชุมชน ชุมชนกับภาครัฐและภาคเอกชน
เป้าห มายเพื่อการพัฒนายั่งยืนที่เกี่ยวข้อง (SDGs)
กลุ่ม People มิติการพัฒนาคน
กลุ่ม Planet มิติสิ่งแวดล้อม
กลุ่ม Partnership มิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
ความเป็นมาและบริบท
พื้นที่ป่าฮ่อมวัดกว่า 5,000 ไร่ ที่เป็นป่าชุมชนและเขตห้ามล่าสัตว์ มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นป่าต้นน้ำห้วยไคร้ที่ไหลลงสมทบสู่แม่น้ำลาวใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรและวิถีชีวิตของคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นป่าที่สร้างรายได้ให้ทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชนอย่างการหาของป่าไปขาย แต่เนื่องจากพื้นที่ป่าอยู่ติดกับถนนสายหลักสามารถเข้าออกได้สะดวกและหลายทางทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น ไฟป่าที่ลามเข้ามาในพื้นที่ป่าชุมชน การลักลอบตัดไม้ ลักลอบล่าสัตว์ ลักลอบนำขยะนอกชุมชนเข้ามาทิ้งในชุมชนทำให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
เดิมทีทางชุมชนมีการจัดการกันเองอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่ด้วยงบประมาณที่ไม่เพียงพอและชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า การบริหารจัดการทรัพยากรป่าที่ถูกต้องเหมาะสม จึงทำให้ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร กลุ่มแกนนำชุมชนจึงเสนอพัฒนาโครงการศักยภาพของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนบ้านลังกาให้เข้าใจและเห็นความสำคัญ ร่วมกันขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยประสานความร่วมมือจากชุมชนรอบข้างและหน่วยงานต่าง ๆ มีการใช้เทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์ โดยมีกำลังสำคัญคือ ผู้นำหมู่บ้านและกลุ่มเยาวชนอาสา
การฟื้นฟูทรัพยากรป่าฮ่อมวัดซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยกระบวนการบริหารจัดการป่าโดยชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ดำเนินกิจกรรมด้านการป้องกันและฟื้นฟูป่า การดูแลจัดการแหล่งน้ำแม่ลาวอันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำกิน การพัฒนาอาชีพจากฐานทรัพยากรป่าและน้ำที่มี “สร้างป่า สร้างรายได้”
ต้นกำเนิดและโครงสร้าง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าฮ่อมวัดซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำโดยกระบวนการบริหารจัดการป่าโดยชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนนั้น ชุมชนบ้านลังกาจะต้องมีการดำเนินการในหลากหลายกิจกรรมด้วยกัน ทั้งในส่วนงานวิชาการและการลงมือปฏิบัติงานโดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
กิจกรรมด้านวิชาการที่จะพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน การอบรมศึกษาดูงานของกลุ่มต่าง ๆ ภายในชุมชน เช่น กลุ่มกรรมการและเยาวชนในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้กับหน่วยงานภาครัฐ แนวทางการป้องกันและจัดการไฟป่า กลุ่มเยาวชนกับความรู้การพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นการแจ้งเตือนไฟป่า กลุ่มสตรีเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน
การป้องกันและฟื้นฟูป่า มีการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนอาสารักษ์ป่าบ้านลังกา ชุดอาสาเฝ้าระวังและป้องกันไฟทรัพยากรป่าฮ่อมวัด การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการจัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชนให้ชัดเจน โดยใช้ระบบแผนที่ดาวเทียม GIS เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนดำเนินโครงการ
การจัดการไฟป่า มีการทำแนวกันไฟความยาวกว่า 10 กิโลเมตร ด้วยความร่วมมือกันสร้างเครือข่ายการดับไฟป่าของคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงที่ช่วยกันป้องกันไฟป่าและการดับไฟป่าที่ทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบวชป่า ปลูกป่า และสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อดักตะกอน สร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าฮ่อมวัดจากการสนับสนุนองค์ความรู้จากภาครัฐ และความร่วมมือของภาคีเครือข่ายยุวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดเชียงราย
“สร้างป่า สร้างรายได้” การพัฒนาอาชีพจากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทั้งกลุ่มสตรีที่มีการแปรรูปผลผลิตที่ได้จากป่า อย่างหน่อไม้ ผลิตภัณฑ์จักสานจากไม้ไผ่โดยกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ชุมชนบ้านลังกาเองยังมีการพัฒนาเส้นทางศึกษาระบบนิเวศป่าฮ่อมวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
นอกจากนี้ชุมชนมีการสรุปและจัดทำคู่มือกระบวนการจัดการองค์ความรู้ของคนในชุมชนในการฟื้นฟูทรัพยากรป่าฮ่อมวัด เพื่อเป็นการสื่อความรู้และเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข พัฒนาศักยภาพคน อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนใกล้เคียงได้นำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการโครงการอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมขององค์กรและพื้นที่ต่อไป
กระบวนการบริหารจัดการป่าโดยชุมชนบ้านลังกาได้มีการประสานความร่วมมือในทุกระดับ ตั้งแต่ภายในชุมชนที่มีแกนนำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำทางความคิดความเชื่อ ภาวะความเป็นผู้นำเป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้าน เป็นหลักในการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ กลุ่มผู้นำทางศาสนา เจ้าอาวาส พระภิกษุ สามเณร ล้วนแต่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าแทบทั้งสิ้น การนำความเชื่อมาเชื่อมโยงการแก้ไขการตัดไม้ทำลายป่าอย่างการบวชป่า และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ร่วมปฏิบัติงานด้วย
กลุ่มสตรีและผู้สูงอายุ กำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนทั้งกระบวนการ สร้างอาชีพเสริมจากผลผลิตพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
ชุมชนบ้านลังกายังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่นมากคือ กลุ่มเยาวชนบ้านลังกาที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง มีความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ทันสมัย ทันโลก เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนา ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นความสามัคคีของคนในหมู่บ้านที่ช่วยกันสร้าง พัฒนา ต่อยอด และยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายยุวชนภายในจังหวัดเชียงรายเองในการร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนร่วมการดำเนินโครงการ ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่งที่มีการประสานการทำงานร่วมกับชุมชน ร่วมสนับสนุนรถดับเพลิงในกรณีการเกิดลุกลามของไฟป่า สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงป่าเป้าร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน การบริหารจัดการชุมชน เพื่อสร้างพลังชุมชนให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนวิทยากร ข้อมูลทางด้านวิชาการ ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้จากป่า
สถานการณ์ในท้องถิ่น
ปัญหาการถูกรุกล้ำพื้นที่ทำกิน
ปัญหาหนึ่งที่พบคือ สมัยก่อนชาวบ้านไม่ทราบว่าที่ดินบริเวณหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านเองเข้าใจว่าที่ดินของนายทุนรายใหญ่ที่ทำรีสอร์ตและโครงการสหกรณ์เลี้ยงโคนมนั้นเป็นที่ดินที่มีการซื้อขายกันตามปกติ แต่เมื่อกิจการรีสอร์ตของนายทุนเองก็ไม่ได้ทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องจึงกลายเป็นที่ร้าง ต่อมานายทุนปล่อยให้ชาวบ้านเข้ามาเช่าที่ดินทำการเกษตรเพื่อไม่ให้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า และเมื่อชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินของตัวเองก็ต้องจำยอมเสียเงินเช่าที่ดินปีละ 1,500 บาท ต่อไร่ จากเดิมที่ปลูกไม้ผลอย่างลำไย มะม่วง ก็จำเป็นต้องหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมตามมาอีก
ต่อมามีการเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดินจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก มีการแบ่งขายที่ดินเป็นแปลง ชาวบ้านต้องการซื้อไว้เพื่อเป็นที่ทำกินแต่ปรากฏว่าเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงไม่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งแปลงที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้นราคาไร่ละ 50,000 บาท ส่วนแปลงที่มีเอกสารสิทธิ์จะอยู่ติดถนนสายหลัก ราคาสูงถึงไร่ละ 1,500,000 บาท ถึงอย่างไรชาวบ้านก็ไม่สามารถซื้อได้ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินจึงยังคงเป็นปัญหาหลักที่คาราคาซังอยู่อย่างนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่
จากปัญหาการถูกรุกล้ำพื้นที่ทำกิน ทำให้ภายในหมู่บ้านเองเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คนที่มีฐานะดีมีที่ดินของตัวเองก็สามารถปล่อยที่ดินให้เช่าได้ ส่วนคนที่ไม่มีที่ดินของตัวเองก็ต้องเสียเงินทั้งค่าเช่าที่ดิน ค่าลงทุนลงแรงในการทำการเกษตร แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งรายได้ครัวเรือนของบ้านลังกาเฉลี่ยแล้วประมาณ 100,000 บาท ต่อปีเท่านั้น
การฟื้นฟูทรัพยากรป่าจึงเป็นหนทางที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ได้ หากป่าและแหล่งน้ำสมบูรณ์ ชาวบ้านก็จะสามารถทำการเกษตรที่มีคุณภาพได้
การเกิดไฟป่า
เมื่อปี พ.ศ. 2562 บ้านลังกาได้รับผลกระทบจากไฟป่าหนักมาก ทั้งที่เกิดจากคนมาเที่ยวป่า พรานป่า เข้าป่าแล้วจุดไฟสูบบุหรี่ ชาวบ้านบางกลุ่มจุดไฟเพื่อให้เกิดเห็ดเผาะแล้วเก็บไปขาย หรือบางครั้งก็มีไฟป่าที่เกิดนอกพื้นที่แต่ไหม้ลามมาถึงหมู่บ้าน ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ไม่มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและบริโภค ขาดแคลนแหล่งอาหารธรรมชาติ
ปัจจุบันหมู่บ้านมีการทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่องด้วยการร่วมมือกันทั้งชาวบ้าน กลุ่มเยาวชน และภาครัฐ อีกทั้งยังมีแผนในอนาคตที่จะประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวโดยนำกลุ่มมอเตอร์ไซค์วิบากเข้ามาช่วยทำแนวกันไฟ ดึงดูดด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ซึ่งอาจจะต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้านเสียก่อนจึงจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
ปัญหาขยะในและนอกชุมชน
ชุมชนบ้านลังกามีการผันน้ำแม่ลาวเข้ามาใช้ในแปลงเกษตรจึงจำเป็นต้องเน้นเรื่องการกำจัดขยะไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำ มีกรณีชุมชนอื่นมาทิ้งขยะในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นขยะที่มีสารพิษเกิดมลพิษเป็นปัญหากับแหล่งน้ำ ถนนหลักเส้น เวียงป่าเป้า - พร้าว ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นถนนสายสุขภาพที่เคยมีกลุ่มจักรยานนิยมปั่นผ่าน เมื่อมีขยะมาทิ้งมากขึ้น กลุ่มจักรยานก็หายไป
บ้านลังกาจึงมีการจัดทำป้ายห้ามทิ้งขยะริมถนนสายหลักเป็นระยะ ๆ กำหนดโทษปรับอย่างชัดเจน ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ชาวบ้านก็ยังคงต้องช่วยกันดูแลป้องกันไม่ให้มีคนฝ่าฝืนทั้งจากในชุมชนเองและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันสามารถสืบต้นตอของขยะได้รวดเร็วขึ้นเนื่องจากขยะที่พบส่วนใหญ่จะเป็นกล่องพัสดุที่ระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน
โครงการขยะแลกไข่ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ได้นำมาทดลองใช้ในชุมชน แต่ทว่าใช้วิธีการนี้ได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้นก็ด้วยในชุมชนเองไม่ได้มีปริมาณขยะที่สามารถรีไซเคิลได้มากพอ จึงทำให้โครงการไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็คือเป็นการดีที่ชุมชนมีขยะน้อย
การจัดการฟื้นฟูทรัพยากรป่าและน้ำสู่คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน
สตรีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง
นางกัลยา วรรณธิกุล แม่หลวงบ้านลังกา (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านลังกา) ผู้ใหญ่บ้านหญิงคนแรกของบ้านลังกามองว่า ปัญหาหลักของชุมชนคือการขาดแคลนแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ซึ่งแต่เดิมเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนเคยมีแหล่งน้ำในหมู่บ้าน แต่เมื่อมีการตัดถนนใหม่สายเวียงป่าเป้า - พร้าว ทำให้ตาน้ำเปลี่ยนไปลงที่แม่น้ำฉางข้าวแทน แม้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านสันแต่ก็ทำถึงแค่พื้นที่บ้านโป่งเทวี ไม่ถึงบ้านลังกา ทำให้บ้านลังกาทำนาได้แค่ปีละครั้งเพราะไม่มีแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำที่ดีเกิดจากป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ ป่าเป็นแหล่งอาหาร ที่พักพิง เมื่อแม่หลวงกัลยาได้เข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2561 จึงเริ่มดำเนินการประสานกับทางป่าไม้ มีการขุดบ่อน้ำไว้ใช้น้ำดับไฟป่า ให้สัตว์ป่ากิน และใช้ในการเกษตร อีกทั้งได้รับสนับสนุนกล้าไม้มาปลูกตรงพื้นที่ต้นน้ำ ทดลองปลูกป่า ยางนา (เหียง) ประดู่ พญาเสือโคร่ง ลูกหว้า มะขามป้อม กระท้อน อีกทั้งยังมีพืชท้องถิ่นกินได้ เช่น มะแขว่น
แม่หลวงกัลยายังเป็นผู้นำชุมชนร่วมกันสร้างฝาย ภายในพื้นที่ป่าต้นน้ำมีการทำฝายถึง 5 จุด มีทั้งฝายแม้วที่เป็นกระสอบผ้าผสมปูน ฝายแกเบรียลซึ่งเป็นฝายกล่องเหล็กสำหรับดักตะกอน มีการพักน้ำ ได้รับการสนับสนุนงบบางส่วนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และแรงงานจากชาวบ้าน กลุ่มเยาวชน และภาคีเครือข่ายเยาวชนต่างอำเภอ องค์ความรู้เรื่องฝายจาก อาจารย์สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำฝายในจังหวัดเชียงราย
ในการดำเนินงานต่าง ๆ นับว่าแม่หลวงกัลยาจะต้องมีความอดทนและพากเพียรอย่างมากในการนำพาชาวบ้านได้ทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากเกิดปัญหาชาวบ้านไม่เชื่อมั่นในผู้นำที่เป็นผู้หญิง เช่นการดับไฟป่าที่น่าจะเกินกำลังของผู้หญิง แต่ด้วยความพยายามของแม่หลวงกัลยาที่ทำให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่างก่อนว่าทำได้ จึงเกิดการยอมรับและทำให้เกิดความร่วมมือได้ในทุกครั้งที่มีการขอแรงและเวลา
การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าแทบจะไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะพรานกลับใจ การร่วมมือกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้เปลี่ยนพรานเป็นผู้อนุรักษ์ ตาน้ำขยายทุกปีเป็นผลมาจากการจัดการดูแลทรัพยากรที่ดี กลุ่มสตรีบ้านลังกามีการเข้าถึงทรัพยากรป่าเกิดจากการที่แม่หลวงกัลยาเห็นชาวบ้านชุมชนอื่นเข้ามาหาหน่อไม้ในป่าบ้านลังกา แต่บ้านเรากลับมองข้ามไปจึงเกิดความคิดที่จะทำเองขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถนอมอาหาร หน่อไม้บรรจุขวด ถุง เอาไว้บริโภคในครัวเรือนหากเหลือก็นำออกมาขาย
"อะไรที่ทำครั้งเดียวแล้วสำเร็จเลยก็ถือว่าเป็นบุญ
แต่ถ้าอะไรที่ทำแล้วไม่สำเร็จก็ถือว่าเราถอดเป็นบทเรียนต่อไป"
แม่หลวงกัลยา วรรณธิกุล
ผู้ใหญ่บ้านลังกา หมู่ 4 อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
พลังเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์ป่า
ชุมชนบ้านลังกามีเครือข่ายอาสาเยาวชนอยู่แล้วกว่า 3 ปี เป็นอาสาที่ช่วยทำงานสอดส่องดูแลผืนป่า ดับไฟป่าที่ทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นพีเอ็ม สอดส่องผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า อาสานี้ไม่มีเบี้ยเลี้ยงเนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจน จึงทำให้จำนวนอาสาลดลงเพราะขาดแกนนำสำคัญ ต่อมาแม่หลวงกัลยาได้เล็งเห็นความสำคัญของอาสาเป็นอย่างมากจึงจัดการรับสมัครอาสาขึ้นอีกครั้ง จนปัจจุบันมีทีมงานกว่า 20 คน ในชื่อ “ลังกาพิทักษ์ รักผืนป่า” โดยมีงบช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง และงบจากน้ำใจคนในชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน
เมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กโดยชุมชน กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก แม่หลวงกัลยาใช้กลยุทธ์ที่น่าสนใจคือ พากลุ่มเยาวชนไปกิน พาไปเที่ยวในช่วงวันหยุด ซึ่งก็คือการศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ แล้วนำกลับมาพัฒนาที่บ้านลังกาให้เกิดป่าชุมชนที่คาดว่ามีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้
กลุ่มเยาวชนมีการสำรวจผืนป่าร่วมกับผู้ใหญ่แล้วกลับมาวางแผนในการฟื้นฟูร่วมกัน การมาทำกิจกรรมอนุรักษ์ป่าของเยาวชนก็นับว่าเป็นการเรียนรู้ปูทางเพื่อนำไปสู่การเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เยาวชนผู้หญิงแม้จะไม่ได้เป็นกำลังหลักแต่ก็มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การทำแนวกันไฟ การดับไฟป่า ก็จะช่วยเหลือในส่วนของอาหารและน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนยังสนใจปลูกพืชที่ร่วมสมัย เช่น ต้นกาแฟ และพืชสมุนไพรอย่างมะขามป้อม
หลังจากที่ชุมชนมีการจัดการฟื้นฟูป่ามาได้ระยะหนึ่ง กลุ่มเยาวชนสังเกตเห็นว่านอกจากฟาน (เก้ง) ไก่ป่า อีเห็น แมงแม้ (ดักแด้) ก็เริ่มมีสัตว์บางชนิดที่หายไปนานแล้วกลับมาให้เห็นอีกครั้งเมื่อต้นปี 2565 นี้เอง อย่างนกกระเต็นหัวฟ้า
ต้นกำเนิดของความสุขก็คือ "ที่นี่บ้านเรา"
บัณฑิต กุณโน (กุ้ง)
ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนลังกาพิทักษ์รักษ์ผืนป่า
กลุ่มเยาวชนลังกาพิทักษ์ รักผืนป่า มีการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การประชาสัมพันธ์ให้คนข้างนอกเห็นว่ากลุ่มเยาวชนทำอะไรไปบ้างที่เป็นประโยชน์กับป่าต้นน้ำ มีการตั้งคำถามกันเองภายในกลุ่มว่าจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีไปกับการอนุรักษ์ป่าได้อย่างกลมกลืน เทคโนโลยีกับชุมชนจะทำงานร่วมกันอย่างไร จนถึงการขยายผลไปสู่วงกว้างเกิดเป็นภาคีเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์ป่าภายในจังหวัดเชียงรายที่สามารถส่งต่อข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
"ในเมื่อเราไม่สามารถกลับไปหาป่าในอดีตได้ เราก็จะสร้างป่าใหม่ด้วยมือของเราเอง"
เกียรติศักดิ์ วงเวียน(ใต้)
ประธานกลุ่มเยาวชนลังกาพิทักษ์รักษ์ผืนป่า
คนสูงวัยไม่ไร้ค่ากับการพัฒนาอาชีพในชุมชน
การเข้าถึงทรัพยากรจากป่าชุมชนของกลุ่มผู้สูงอายุบ้านลังกาเป็นผลิตภัณฑ์จักสานไม้ เช่นการทำโคมที่ใช้ในประเพณีทางศาสนา โดยประสานความร่วมมือคนวัยทำงานหาไม้มาให้คนแก่ โครงการ “อุ๊ยสอนหลาน หลานสอนอุ๊ย” คนแก่สอนและส่งต่อองค์ความรู้ให้เด็ก สอนให้ทำ ส่วนหลานสอนคือการใช้โซเชียลมีเดีย และช่องทางการตลาด
ภาคีเครือข่ายประชาชน – ภาครัฐและเอกชน
จุดกำเนิดของความร่วมมือที่เห็นได้ชัดคือ ป่าชุมชนหลังโรงเรียนบ้านลังกาที่เกิดจากโครงการปลูกป่าของบริษัท มิยาซาว่า แมชชีน (ไทย) จำกัด ที่สนับสนุนกล้าไม้เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ประกอบกับการได้รับกล้าไม้จากป่าไม้มาปลูกเสริม ประเภทไม้ผล เช่น มะม่วง ลำไย และชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลเรื่อยมาจึงทำให้มีสัตว์ประเภทกระแต กระรอก อาศัยอยู่จำนวนมากและด้วยพื้นที่ป่าใกล้ชุมชนจึงไม่มีการลักลอบตัดไม้ หากมีไม้ใหญ่ยืนต้นตายเช่นไม้สัก ก็จะมีการประชาคมในหมู่บ้านว่าจะทำอย่างไรต่อไป
การบวชป่า นอกจากจะเป็นการปลูกจิตสำนึกของคนในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความร่วมใจระหว่างคนในชุมชน การประสานความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งการปลูกป่า การทำแนวกันไฟโดยร่วมมือกับป่าไม้ในเขตป่าสงวน การทำฝายชะลอน้ำ
ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านลังกาครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5,000 กว่าไร่ และมีแนวโน้มจะเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ต่อไป
ผลกระทบเชิงนโยบาย
ผลกระทบระดับนโยบายของชาติ
การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันยังไม่ได้เน้นเรื่องของป่าชุมชนมากเท่าที่ควร แต่ก็มีแนวคิดที่จะสนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้นำมากขึ้น องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่งเองก็ต้องการสนับสนุนให้หมู่บ้านมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาอาชีพให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน แรงงานไม่ต้องออกไปนอกพื้นที่ การฟื้นฟูป่าคืนความชุ่มชื้นทำให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ดึงความชื้นเข้ามาให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล
คนในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐได้ง่ายและสะดวกขึ้น เนื่องจากมีการรวมกลุ่มกันของเยาวชน มีการพึ่งพากันระหว่างเยาวชนและคนชรา ทั้งในส่วนของเกษตรอำเภอ อบต. และหน่วยงานอื่น ๆ บางครั้งก็ไม่ต้องเดินทางไปเอง หน่วยงานรัฐจะเข้ามาให้คำปรึกษาและบริการถึงในชุมชน นับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
การเพิ่มขีดความสามารถของนิเวศบริการ โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม เช่น การจัดทำ แนวเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชนโดยใช้ระบบแผนที่ดาวเทียม GIS. เพื่อใช้ในการวางแผนการดำเนินโครงการ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตที่ยั่งยืนโดยการสร้างอาชีพทางเลือกที่เป็นมิตรกับป่า เช่น การแปรรูปผลผลิตที่ได้จากป่า การผลิตเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ และจัดทำเพจ “บ้านลังกาพิทักษ์รักษ์ผืนป่า” โดยกลุ่มเยาวชนเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน วิถีชีวิตคนกับป่า และจัดทำการตลาดออนไลน์ การบริหารจัดการที่เป็นธรรมมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม โดยการพัฒนาศักยภาพของชุมชนผ่านการประชุม ฝึกอบรม และการศึกษาดูงาน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความสำเร็จในการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าฮ่อมวัดทางเพจ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ ในลุ่มน้ำแม่ลาว นำประสบการณ์จากที่อื่น ๆ มาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง
การมีส่วนร่วมในวาระระดับโลก
โครงการฯ มีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หลายประการ ได้แก่ ขจัดความยากจน (เป้าหมายที่ 1) ขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร (เป้าหมายที่ 2) สร้างความเท่าเทียมทางเพศสตรีและเด็กหญิงทุกคน (เป้าหมายที่ 5) จัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพร้อมใช้สำหรับทุกคน (เป้าหมายที่ 6) สร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12) ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (เป้าหมายที่ 13) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก (เป้าหมายที่ 15) และการสร้างความร่วมมือสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17) ตัวโครงการฯ เองนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์และจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม ในแง่ของการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการฯที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนและภาครัฐ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย SDGs ที่กำหนดเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน
การพัฒนาต่อยอดและความยั่งยืน
การทำซ้ำ
การฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรป่าและน้ำของบ้านลังกามีการเริ่มต้นที่ดีด้วยการเริ่มที่กลุ่มเยาวชนที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนทุกกระบวนการ การดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอจากกลุ่มอาสาเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คน จนเพิ่มเป็นหลักสิบในปัจจุบันก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการทำซ้ำในงานอนุรักษ์กลุ่มเล็ก ๆ จะเป็นพลังในการสร้างสรรค์และสามารถขยายวงกว้างไปสู่ภาคีเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
การพัฒนาต่อยอด
การศึกษาดูงานต่างพื้นที่โดยเริ่มกิจกรรมจากเยาวชนก่อน เช่น การศึกษาดูงานที่ห้วยชมภู บ้านห้วยหินลาดใน ในการรักษาและอยู่กับป่า โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริม่อนล้าน (อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) แล้วกลับมาสร้างแรงศรัทธาให้คนในชุมชนได้ร่วมมือกันรักษาป่าต้นน้ำ ดูแลระบบนิเวศของน้ำ ทำให้ชุมชนตนเองได้ใช้และรวมถึงหมู่บ้านอื่นด้วย เป็นคนดูแลต้นน้ำเพื่อคนกลางน้ำและปลายน้ำได้ประโยชน์ร่วมกัน
“คนคู่กับป่า ป่าคู่กับคน”
พ่อปรีชา ศิริ วีรบุรุษพิทักษ์ป่า บ้านห้วยหินลาดใน
ต้นแบบการอนุรักษ์ป่าของกลุ่มเยาวชนบ้านลังกา
ความยั่งยืน
กลุ่มเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็ง พลังสตรีผู้นำและคณะดำเนินงานเป็นแรงสำคัญที่จะทำให้กระบวนการถูกส่งต่อซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โครงการนี้จะสามารถสร้างพลังต้นแบบของการขับเคลื่อนแนวคิดการรักษาผืนป่าโดยคนในชุมชนสามารถขยายเอาความสำเร็จไปเป็นต้นแบบให้กับชุมชนใกล้เคียงได้ ทั้งนี้เมื่อผู้คนในชุมชนตระหนักรู้และได้ผลประโยชน์จากผืนป่าอย่างแท้จริง ผู้คนในชุมชนจะเกิดการหวงแหนและดูแลทรัพยากรของชุมชน เกิดพลังการปกป้องผืนป่าจากรุ่นสู่รุ่น ปัญหาไฟป่า การลักลอบตัดต้นไม้ ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะชุมชนมีทีมงานที่คอยดูแลปกป้องทรัพยากรป่าฮ่อมวัดจะไม่เสื่อมโทรม เพราะป่าสร้างรายได้ให้คนในชุมชน นอกจากนั้นยังสามารถต่อยอดขยายงานโครงการออกไปได้อีก เช่นการสร้างศูนย์เรียนรู้นิเวศป่าชุมชน เพื่อสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในพื้นที่ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า
“คนคู่กับป่า ป่าคู่กับคน”
พ่อปรีชา ศิริ ปราชญ์ปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ผู้เป็นต้นแบบการอนุรักษ์ป่าของกลุ่มเยาวชนบ้านลังกา
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
Website องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย http://www.tambonbanpong.go.th/
Facebook Page : บ้านลังกาพิทักษ์รักษ์ผืนป่า